วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

วัดสามกระบือเผือก


หลวงปู่ชา  วัดสามกระบือเผือก

            จังหวัดนครปฐม เป็นดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นดินแดนที่พระพุทธศาสนาได้เริ่มเผยแพร่เป็นครั้งแรกในดินแดนสุวรรณภูมิ สมณฑูตที่พระเจ้าอโศกมหาราชมีพระบัญชาส่งมายังแคว้นสุวรรณภูมิ เมื่อ พ.ศ. 235 เดือน 12 ประกอบด้วยพระอรหันต์ 5 รูป คือ พระโสณเถระ พระอุตตรเถระ พระฌานียเถระ พระภูริยเถระ และ พระมุนียเถระ พร้อมด้วยสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ร่วมคณะอีก 38 คน เดินทางมาจากเมืองปาฏลีบุตร ประเทศอินเดียโบราณ ให้นำเอาพระพุทธศาสนามาประกาศแล้วประดิษฐานยังดินแดนสุวรรณภูมิ คือจังหวัดนครปฐมในปัจจุบัน เมื่อคณะสมณฑูตเดินทางมาถึงดินแดนสุวรรณภูมิ ขณะนั้นพระเจ้าโลกละว้าราชาธิบดี เป็นพระมหากษัตริย์เป็นผู้ครองเมืองในสมัยนั้น ได้ถวายการต้อนรับคณะสมณฑูตเป็นอย่างดี และเป็นกำลังสำคัญช่วยในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ให้ประชาชนได้นับถือศาสนาพุทธ จนพระพุทธศาสนาเกิดความมั่นคง และเจริญอย่างรวดเร็ว และประชาชนเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้ขอบวชเป็นพระภิกษุ เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาอย่างไม่ขาดสายจนถึงปัจจุบัน
            ดังนั้นจังหวัดนครปฐมจึงมีพระเกจิอาจารย์ทั้งอดีตและปัจจุบัน มีมาตลอดไม่ขาดสาย ในอดีตพระเกจิอาจรย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังจัดเป็นยอด 5 เกจิอาจารย์ดังต่อไปนี้
1.หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก
2.พระครูนาค วัดห้วยจรเข้
3.หลวงปู่ดี วัดบ้านยาง
4.หลวงปู่ชา วัดสามกระบือเผือก
5.หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง
            โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เก่งกล้าในวิทยาคมมาก แม้แต่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ก็ให้การยกย่องและยอมรับว่า ท่านเรืองเดชในอิทธิฤทธิ์ และได้นิมนต์ให้ร่วมพิธีพุทธาภิเษกพระกริ่งปวเรศ ส่วนเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงต่อจากหลวงพ่อทาได้แก่ หลวงวงษ์ วัดทุ่งผักกูด หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม หลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทองและ หลวงพ่อน้อย วัธรรมศาลา หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอมที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั้งประเทศ หลวงพ่อเต้า วัดเกาะวังไทร หลวงพ่อแช่ม วัดดอนยายหอมและหลวงพ่อผูก วัดพระปฐมเจดีย์ ดังนั้นจังหวัดนครปฐมจึงเป็นจังหวัดที่ไม่เคยว่างเว้นพระเกจิอาจารย์เลย
            วัดสามกระบือเผือกเป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ 61 หมู่ที่ 4 ถนนสายธรรมศาลา-นราภิรมย์ ตำบลสามควายเผือก จังหวัดนครปฐม พื้นที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ 23 ไร่ 1 งาน 89 ตารางวา ตามหนังสือโฉนดเลขที่ 25788 เล่ม 258 หน้า 87 อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
            ประวัติวัดสามกระบือเผือกมีผู้เฒ่าเล่าว่าเดิมนั้นมีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่ออาจารย์โต เดินธุดงค์มาซึ่งไม่มีใครทราบว่าท่านมาจากไหน ได้มาปักกลดอยู่ที่บ้านสระน้ำหวาน ชาวบ้านมีความเลื่อมใสในปฏิปทาของท่านจึงนิมนต์ให้ท่านอยู่และพร้อมใจกันสร้างเสนาสนะเล็กๆ ให้เป็นที่อยู่อาศัยก็คงเหมือนกับสำนักสงฆ์ในปัจจุบันนี้ ซึ่งสำนักสงฆ์นี้อยู่ทางทิศเหนือของวัดสามกระบือเผือกในปัจจุบัน ห่างจากวัดประมาณ 3 กิโลเมตร ในระหว่างที่ท่านอยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์ บ้านสระน้ำหวานนี้ ก็มีเด็กชายชาเป็นลูกศิษย์คอยปรนนิบัติท่านอยู่ด้วย พร้อมกับเล่าเรียนหนังสือและวิชาการต่างๆ จากอาจารย์โต ควบคู่กันไปด้วย ต่อมาเด็กชายชาได้บรรพชาเป็นสามเณร จนกระทั่งอายุได้ 21 ปี ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ครั้นต่อมาอาจารย์โต ได้คิดที่จะย้ายวัดมาตั้งในที่ที่เหมาะสม จึงได้ย้ายวัดมาเป็นครั้งที่ 2 อยู่ทางทิศเหนือของที่ตั้งวัดปัจจุบัน ระยะห่างประมาณครึ่งกิโลเมตร (ปัจจุบันสถานที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งสถานีตำรวจภูธรตำบลสามกระบือเผือก) ต่อมาอาจารย์โตได้ชราภาพและมรณภาพลง เมื่อ พ.ศ. ใดไม่สามารถสืบได้ ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันมอบให้พระภิกษุชาเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา
            เมื่ออธิการชาได้รับการแต่ตั้งเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า ที่ตั้งวัดในสมัยนั้นยังไม่เหมาะสม จึงได้ทำการย้ายที่ตั้งวัดใหม่เป็นครั้งที่ 3 โดยย้ายข้ามคลองลงมาทางทิศใต้ และได้ทำการสร้างวัดใหม่คือ สถานที่ตั้งวัดสามกระบือเผือกในปัจจุบันนี้ เมื่อสร้างวัดและมีเสนาสนะพอสมควรแล้ว ก็มีนายหมวดอินทร์ เป็นผู้อุปการะวัด (คำว่า หมวด เป็นยศของข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ 5) ในสมัยนั้นอุโบสถยังไม่มี พื้นที่เป็นป่ามีสัตว์ชุกชุม พระอธิการชาเป็นที่เคารพนับถือของนายหมวดอินร์มาก จึงได้ร่วมใจกันทำบุญ ขุดดินปั้นอิฐก่อสร้างโบสถ์พร้อมกับไพร่พลของท่าน บ่อที่ขุดดินนั้นมีชื่อว่า หนองเตาอิฐ การก่อสร้างโบสถ์ได้ทำเมื่อประมาณปี พ.ศ.2423 และในสมัยนั้นได้ขนานนามว่า วัดอินทารามโดยเอานามของนายหมวดอินทร์มาตั้งเป็นชื่อวัด และได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2435
            กาลต่อมา ได้มีพ่อค้าเกวียนเทียมควายบรรทุกของเดินทางมาหลายเล่มเกวียน ผ่านมาทางทิศตะวันออกของวัดซึ่งมีลำคลอง มีน้ำไหลผ่าน และมีทางข้ามได้ เมื่อเดินมาถึงวัดนี้ได้หยุดพักร้อน ให้หญ้า ให้น้ำแก่ควาย และลงอาบน้ำแช่น้ำคลองข้างวัด จะเป็นด้วยเหตุใดไม่ทราบแน่ชัดจึงได้รีบเดินทางต่อไปด้วยความกลัว ชาวบ้านละแวกนี้ซึ่งเป็นชนชาวลาว ก็เลยถือเอานิมิตรว่า ควายเผือกสามตัวเป็นมงคล ชาวบ้านจึงเปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่จากวัดอินทารามเป็นวัดสามควายเผือกตั้งแต่นั้นมา
            สมัยพระสมุห์วรรณเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่สาม ได้พิจารณาเห็นว่าชื่อ วัดสามควายเผือกเป็นชื่อที่ไม่ค่อยเหมาะสมนักเพราะมีผู้คนชอบเรียกผิดไป จึงได้ตั้งชื่อวัดใหม่ว่า วัดสามกระบือเผือกแต่ชื่อโรงเรียนและตำบลยังคงไว้ตามเดิม บางครั้งชาวบ้านเรียกชื่อย่อว่า วัดบ้านเผือกซึ่งเป็นที่รู้กันว่าหมายถึงวัดสามกระบือเผือกนั้นเอง
            หลวงปู่ชาท่านเป็นพระรอบรู้ในพระธรรมวินัยและเชี่ยวชาญในวิปัสสนากรรมฐาน และคันถธุระ ตลอดจนคาถาอาคม แพทย์แผนโบราณ หลวงปู่ท่านเป็นพระเปี่ยมด้วยความเมตตา ฉะนั้น เมื่อบุคคลใดมีความทุกข์หรือต้องการความช่วยเหลือ หรือมีความต้องการใดๆ ท่านจะอนุเคราะห์ให้เสมอ โดยไม่ขัดศรัทธาของประชาชนในละแวกนั้น จะเห็นได้จากการที่ชาวตำบลสามควายเผือกเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยมักจะมาขอร้องให้หลวงปู่ชารักษาพยาบาล เสมือนท่านเป็นแพทย์ประจำตำบล โดยเฉพาะผู้ถูกสุนัขบ้ากัด หลวงปู่ชาท่านจะทำน้ำมนต์ เสกเป่า จนผู้ถูกสุนัขบ้ากัดหายเป็นปกติ
            นอกจากความเจ็บป่วยที่หลวงปู่ชาได้ให้ความช่วยเหลือแก่ชาวบ้านแล้ว ความอนุเคราะห์ในเรื่องอื่นๆ หลวงปู่ก็มิได้ขัดศรัทธาของชาวบ้านเลย เมื่อมีผู้มาขอให้ท่านหาฤกษ์ยามในงานมงคล เพื่อประกอบพิธีกรรมต่างๆ ท่านก็สนองตอบด้วยความเต็มใจ ดังนั้นทรายเสก ไม้มงคล พระยันต์ปิดหัวเสา จึงมีประชาชนมาขอท่านอย่างไม่ขาดสาย บางรายมีเคราะห์ ก็มาขอให้หลวงปู่อาบน้ำมนต์เสดาะเคราะห์ ท่านจึงเป็นที่อยู่ในหัวใจของชาวตลาดต้นสำโรง และชาวบ้านสามควายเผือก ตลอดจนชาวตำบลธรรมศาลา
            หลวงปู่ชาท่านเป็นพระที่เรืองเดชด้วยอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ แก่กล้าด้วยวิชาอาคม ดังนั้นเครื่องรางของขลังของท่านจึงได้รับความนิยมมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตะกรุดโทน และ ตะกรุดกระดูกแร้ง จึงมีประชาชนวนเวียนมาขอท่านอย่างไม่ขาดสาย มีความเชื่อว่า มีดปืนไม่ได้กินเลือด
            ความโด่งดังรอบรู้ในด้านพระธรรมวินัยและเชี่ยวชาญในวิปัสสนากรรมฐาน และ คันถธุระ คาถาอาคม และวิชาการต่างๆ ดังได้กล่าวมาแต่ต้น จึงมีบุคคลทั่วไปมาฝากตัวเป็นศิษย์อย่างมากมาย ได้แก่ หลวงพ่อฉ่ำ หลวงพ่อวรรณ หลวงตาอยู่(ผู้สร้างพระเนื้อดินลิงลม) หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง หลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา ท่านได้บวชเป็นสามเณรโดยมีหลวงปู่ชาเป็นพระอุปัชฌาย์ และหลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา ท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัย วิปัสสนากรรมฐานและคันถธุระ ตลอดจนวิชาอาคมต่างๆ กับหลวงปู่ชา ตามคำแนะนำของพระครูปุริมานุรักษ์ (นวม)
            เหรียญคุณพระของหลวงปู่ชาที่ผู้เขียนจะแนะนำคือเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก ซึ่งเป็นเหรียญที่สร้างเพื่อแจกในงานณาปนกิจศพชองหลวงปู่ชา เมื่อประมาณ พ.ศ.2480 มี 2 แบบคือ เหรียญหน้าแก่(หน้าเหมือนหลวงปู่) และเหรียญหน้าหนุ่ม(ผู้รู้บางท่านกล่าวว่าเหรียญหน้าแก่ออกก่อนเหรียญหน้าหนุ่มเพราะที่วัดเหรียญหน้าแก่หมดก่อนเหรียญหน้าหนุ่มและสภาพเหรียญหน้าแก่มีความเก่ากว่าเหรียญหน้าหนุ่ม เหรียญหน้าหนุ่มน่าจะสร้างโดยหลวงพ่อวรรณขณะดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสสร้างประมาณ พ.ศ.๒๔๙๐กว่า)  ในอดีตเหรียญหน้าแก่มีค่านิยมสูงกว่าเหรียญหน้าหนุ่มมากเพราะเป็นเหรียญที่ออกก่อนเหรียญหน้าหนุ่มและมีประสบการณ์มากที่สุดในด้านคงกระพันชาตรีและมหาอุดและแคล้วคลาดเซียนพระรุ่นเก่าจึงนิยมบูชาเหรียญหน้าแก่ติดตัว เหรียญมีสองเนื้อ คือเนื้อทองแดง และเนื้อเงิน ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปหลวงปู่ชาครึ่งองค์ มีข้อความข้างใต้เหรียญว่า พะอธิการชาวัดเผือกส่วนด้านหลังเหรียญส่วนบนมีข้อความเป็นภาษาบาลี-ลาว อะระหัง สุคะโตคำว่า อะระหัง  แปลว่าผู้ไกลจากกิเลส ส่วนคำว่า สุคะโต แปลว่าผู้ไปดี ด้านล่างของเหรียญมีข้อความว่า ที่ระลึกงานณาปนกิจ 2480
            เหรียญรุ่นแรกสร้างจำนวนดังต่อไปนี้
1.เหรียญทองแดงหน้าแก่ประมาณ 1000 เหรียญ
2.เหรียญเงินหน้าแก่ประมาณ 100หรือน้อยกว่า ๑๐๐ เหรียญ(สร้างน้อยกว่าเหรียญเงินหน้าหนุ่ม)
3.เหรียญทองแดงหน้าหนุ่มประมาณ 1000 เหรียญ
4.เหรียญเงินลงยาหน้าหนุ่มประมาณ 100 เหรียญ


เหรียญเนื้อเงินหน้าแก่ราคา ๑๐๐,๐๐๐บาท


เหรียญทองแดงหน้าแก่ ราคา ๑๐,๐๐๐ บาท


เหรียญเงินลงยาหน้าหนุ่มเหรียญนี้เจ้าของได้รับจากหลวงพ่อวรรณอดีตเจ้าอาวาสวัดสามกระบือเผือกและหลวงพ่อวรรณเป็นผู้ลงเหล็กจารด้านหลังเหรียญนี้ ราคา๑๐๐,๐๐๐ บาท


เหรียญทองแดงหน้าหนุ่ม 


คณาจารย์ที่ร่วมพิธีปลุกเสกมีดังต่อไปนี้
1.หลวงพ่อคง วัดบางกระพร้อม (หลวงพ่อคงเป็นญาติของหลวงปู่ชา)
2.หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง
3.หลวงพ่อฉ่ำ วัดสามกระบือเผือก
4.หลวงพ่อวงษ์ วัดทุ่งผักกูด
5.หลวงตาอยู่ วัดสามกระบือเผือก ผู้สร้างพระลิงลมเนื้อดิน (คิงคอง)
6.หลวงพ่อวรรณ วัดสามกระบือเผือก
7.หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง
8.หลวงพ่อน้อยวัดธรรมศาลา
            เหรียญรุ่นแรกนี้มีประสบการณ์ในด้านอยู่ยงคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด และมหาอุดโดยเฉพาะเหรียญหน้าแก่มีประสบการณ์การมากกว่าเหรียญหน้าหนุ่ม จนเป็นที่กล่าวขานของชาวตลาดต้นสำโรง และชาวสามกระบือเผือก ตลอดจนชาวตำบลธรรมศาลา นอกจากนี้ยังเปี่ยมล้นด้วยเมตตามหานิยม และโชคลาภ ค่านิยมเหรียญทองแดงสวยแชมป์อยู่ทีประมาณสองหมื่นบาท(เหรียญทองแดงหน้าแก่นิยมมากกว่าเหรียญทองแดงหน้าหนุ่ม) ส่วนเหรียญเงินสวยแชมป์อยู่ที่ประมาณหลักแสนต้นๆ อนาคตเหรียญเงินมีสิทธิเล่นหาหลายแสน   
            เหรียญหลวงปู่ชารุ่นสอง สร้างโดยหลวงพ่อวรรณ เมื่อประมาณ พ.ศ.2518 รูปแบบเหมือนเหรียญรุ่นแรกหน้าแก่ จะต่างกันตรงตัวอักษรบาลี-ลาว ด้านหลัง เหรียญรุ่นสองตัวอักษรตัวพุท จะคล้ายกับตัวอักษรไทยตัว จึงเรียกเหรียญรุ่นแรกว่าเหรียญ ต.ตส่วนเหรียญรุ่นสอง ตัวอักษรบาลี-ลาว ด้านหลังเหรียญรุ่นสองตัวพุท จะคล้ายกับตัวอักษรไทยตัว จึงเรียกเหรียญรุ่นสองว่า ด.ต”และเหรียญรุ่นแรกจมูกจะแบนส่วนเหรียญรุ่นสองจมูกจะโด่ง



เหรียญรุ่นสองพ.ศ.๒๕๑๘

ทั้งเหรียญรุ่นแรกและเหรียญรุ่นสองยังไม่มีของปลอมออกจำหน่าย ส่วนด้านพุทธคุณของเหรียญรุ่นสอง ก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเหรียญรุ่นแรกโดยเฉพาะด้านประสบการณ์ไม่แพ้เหรียญรุ่นแรก
            พระภิกษุที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสในอดีตถึงปัจจุบันตามลำดับดังนี้
1.หลวงปู่ชา
2.หลวงพ่อฉ่ำ(พ.ศ.๒๔๓๗-๒๔๘๙)
3.หลวงพ่อวรรณ(พ.ศ.๒๔๙๐-๒๕๒๖)
4.พระใบฎีกาเฉลิม ฉายา ยสธโร นามสกุล วงใจเย็น วิทยาฐานะ น.ธ.เอก ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน



สุพล  คีรีวิเชียร
081-0434114
                                                              
                                          
                       
                       
                       
                                                        
นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร


                 ประวัติพระเครื่องเมืองนครปฐม ขอแสดงความยินดีที่ท่านสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค๕ และประธานศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เมื่อวันที่๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๘



                                                                                     ประวัติพระเครื่องเมืองนครปฐม




























































ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น