พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยูหัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
ทรงนมัสการหลวงพ่อเกษม เขมโก
หลวงพ่อเกษม เขมโก ท่านเป็นชาวลำปาง กำเนิด วันพุธ แรม ๔ ค่ำ เดือนยี่ (เหนือ) ปีชวด ตรงกับวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๕ เป็นบุตรคนโต ในจำนวนพี่น้องสองคน ของเจ้าหนูน้อย ณ ลำปาง( ต่อมาภายหลังเปลี่ยนนามสกุลใหม่เป็น"มณีอรุณ") รับราชการเป็นปลัดอำเภอ มารดาชื่อเจ้าแม่บัวจ้อน ณ ลำปาง ทั้งสองเป็นหลานเจ้าหลวงบุญวาทย์ วงศ์มานิต
เมื่อวัยเด็กเจ้าเกษม ณ ลำปางมีรูปร่างค่อนข้างเล็กบอบบาง ผิวขาว แต่ดูเข้มแข็งคล่องแคล่ว มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เป็นเด็กซน คืออยากรู้อยากเห็น เมื่อถึงวัยเรียน เจ้าเกษม ณ ลำปาง เข้าศึกษาชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนบุญทวงค์อนุกูล จนเรียนจบชั้นสูงสุดของโรงเรียน คือ ประถมปีที่ ๕ ขณะนั้นอายุได้ ๑๑ ปี ในปี พ.ศ.๒๔๖๖
เมื่อออกจากโรงเรียน ก็ไม่ได้ศึกษาต่อ อยู่บ้าน ๒ ปี ในปี พ.ศ.๒๔๖๘ อายุได้ ๑๓ ปี เจ้าเกษม ณ ลำปางก็ได้เข้าสู่กาสาวพัสตร์ โดยพรรพชาเป็นสามเณรหน้าศพ(บวชหน้าไฟ) เจ้าอาวาสวัดป่าตัวะ บวชได้ ๗ วัน ก็ลาสิกขา ต่อมาอีก ๒ ปีราว พ.ศ.๒๔๗๐ อายุได้ ๑๕ ปี เจ้าเกษม ณ ลำปางได้อุปสมบทเป็นสามเณร ที่วัดบุญยืน จังหวัดลำปาง เมื่ออุปสมบทเป็นสามเณรแล้ว สามเณรเกษม ได้จำพรรษาและศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดบุญยืน เรียนพระปริยัติจนสามารถสอบนักธรรมโทได้ในปี พ.ศ.๒๔๗๔ และต่อมาเมื่ออายุครบบวชในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมา วัดบุนยืน โดยมีท่านเจ้าคุณพระธรรมจินดานายก(ฝ่าย) เจ้าอาวาส วัดบุญวาทย์วิหาร เจ้าคณะจังหวัดลำปางในสมัยนั้น ได้เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านพระครูอุตตรวงศ์ธาดา ( ปัญญา ลิ้นทอง ) เจ้าอาวาสวัดหมื่นกาศ เจ้าคณะอำเภอเมืองจังหวัดลำปางเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านพระธรรมจินดานายก ( อุ่นเรือน ) เจ้าอาวาสวัดป่าตัวะ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า " เขมโก " แปลว่า ผู้มีธรรมอันเกษม
ในปี พ.ศ.๒๔๘๖ หลวงพ่อเกษม เขมโก สอบนักธรรมเอกได้
พระภิกษุเกษม เขมโกเมื่ออุปสมบทแล้ว ได้จำพรรษาที่วัดบุนยืน เมื่อเจ้าอธิการคำเหมย สุธรรม มรณภาพ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบุนยืนก็ตกแก่ พระต่อมคำ (เจ้าต่อมคำ ณ ลำปาง บุตรเจ้าหนานอินตาน้องเจ้าน้อยจู) ต่อมาพระต่อมคำลาสิกขา ความศรัทธาของญาติโยมและคณะสงค์ได้อาราธนาพระภิกษุเกษม เขมโก เข้าดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบุญยืนสืบแทนต่อมา
เมื่อหลวงพ่อเกษม เขมโก เป็นเจ้าอาวาสวัดบุญยืน ท่านก็ทำหน้าที่อย่างไม่มีข้อบกพร่อง ท่านบริหารจัดการดูแลวัดบุญยืนควบคู่กับการศึกษาพระธรรมวินัย ท่านฝึกฝนสมาธิจิต ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอย่างอดทน ท่านเริ่มเล็งเห็นความไม่เที่ยงแท้แห่งลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นความสุขที่ไม่ยั่งยืน ท่านจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบุญยืน ในปี พ.ศ.๒๔๙๒
หลวงพ่อเกษม เขมโก ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะปฏิบัติธรรมโดยทางวิปัสสนากรรมฐาน ท่านได้พบครูบาแก่น สุมโน ท่านครูบาแก่น สุมโน ท่านเป็นพระวิปัสสนากรรมฐานสายพระป่า ถือธุดงค์เป็นวัตร ท่านธุดงค์แสวงหาความวิเวกโดยยึดถือป่าเป็นที่บำเพ็ญเพียร นอกจากท่านจะมีความเชียวชาญในด้านวิปัสสนากรรมฐานแล้ว ท่านยังแตกฉานในพระธรรมวินัย หลวงพ่อเกษม เขมโก จึงขอฝากตัวเป็นศิษย์ และแสดงความจำนงขอศึกษาวิปัสสนากรรมฐานและคันถธุระกับครูบาแก่น สุมโน(ท่านครูบาแก่น สุมโน อดีตเจ้าอาวาสวัดประตูป่อง) แต่นั้นมาหลวงพ่อเกษม เขมโก ก็ร่วมเดินธุดงค์กับครูบาแก่น สุมโน และท่านครูบาแก่น สุมโน ได้แนะนำอุบายธรรมแก่หลวงพ่อเกษม เขมโก จนหลวงพ่อเกษม เขมโก แตกฉานในวิปัสสนากรรมฐานและคันถธุระ การฉันอาหารในบาตรคืออาหารคาวหวานรวมกันเรียกว่า "ฉันเอกา" ฉันมื้อเดียว ช่วงบ่ายก็เดินจงกรม แล้วกลับมานั่งสมาธิบำเพ็ญภาวนาต่อไปจนกระทั่งถึงเวลาเย็น ก็สวดมนต์ทำวัตรเย็น และสิ่งที่ปฏิบัติเป็นกิจวัตรคือ การกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญกุศล แผ่เมตตาให้แก่สรรพสัตว์ทั่วไป
หลวงพ่อเกษม เขมโก ท่านมรณภาพ เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๙ เวลา ๑๙.๔๐ น.ตรงกับวันแรม ๑๑ ค่ำ เดือนยี่ ยังความเศร้าโศกเสียใจมายังคนไทยทั้งประเทศ
เหรียญระฆังศิริมงคล เสาร์ ๕ ปี พ.ศ. ๒๕๑๖
บทความนี้จะขอกล่าวถึงเหรียญระฆังศิริมงคล เสาร์ห้าหรือเหรียญวีรชน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ซึ่งเป็นเหรียญที่หลวงพ่อเกษม เขมโก ได้จัดพิธีพุทธาภิเษกนั่งปรกปลุกเสก เมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ (ตรงกับวันเสาร์ห้า) และได้นั่งปรกปลุกเสกซ้ำในวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๑๖ ก่อนรุ่งอรุณ เหรียญรุ่นนี้สร้างขึ้นเพื่อหาปัจจัยสร้างศาลเจ้าแม่สุชาดา เหรียญรุ่นนี้มี ๒ เนื้อ คือเนื้อเงินกับเนื้อทองแดง
เหรียญระฆังศิริมงคลเสาร์ห้ารุ่นนี้ เป็นเหรียญที่สร้างชื่อเสียงให้แก่หลวงพ่อเกษม เขมโก จนเป็นที่รู้จักของคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ซึ่งเป็นวันมหาวิปโยค เป็นการแสดงพลังการเมืองของประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อนิสิต นักศึกษา และประชาชนกว่า ๕๐๐,๐๐๐คน ชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญและคัดค้านอำนาจรัฐบาลเผด็จการทหาร
ในเหตุการณ์นั้น เหรียญระฆังศิริมงคลได้แสดงปาฏิหารย์ คุ้มครองนักศึกษาท่านหนึ่งที่ร่วมชุมนุมประท้วงรัฐบาลเผด็จการ โดยนักศึกษาผู้นั้นได้แขวนเหรียญระฆังศิริมงคลบูชาติดตัวร่วมชุมนุม เมื่อนักศึกษาผู้นั้นได้เห็นทหารทำร้ายประชาชนที่ร่วมชุมนุม จึงเกิดโทสะได้ถือไม้เบสบอลท้าทายจะต่อสู้กับทหารที่ถืออาวุธปืนเอ็ม-16 จนเป็นเหตุให้ทหารใช้ปืนเอ็ม-16ยิงเข้าใส่นักศึกษาผู้นั้น แต่กระสุนหาได้ถูกนักศึกษาผู้นั้นไม่ กระสุนกลับวิ่งเลยไปถูกประชาชนที่ยืนอยู่ด้านหลังนักศึกษาคนนั้น จนเป็นเหตุให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตาย เหตุการณ์นี้สื่อมวลชนได้แพร่ภาพออกอากาศไปทั่วประเทศและต่างประเทศ จากเหตุการณ์นี้ทำให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศรู้จักหลวงพ่อเกษม เขมโก และเหรียญระฆังศิริมงคลเสาร์ห้า
สมัยที่หลวงพ่อเกษม เขมโกยังมีชีวิต ได้มีศิษย์ของท่านถามท่านว่า พระเครื่องของหลวงพ่อรุ่นไหนดีที่สุด หลวงพ่อเกษม เขมโกท่านตอบว่า...ถ้าอยากดังอยากเด่น ก็ต้องแขวนเหรียญระฆังศิริมงคลติดตัว จะได้ดังเหมือนเสียงระฆัง
เหรียญระฆังศิริมงคลเสาร์ห้ารุ่นนี้ เมื่อประมาณปีพ.ศ.๒๕๑๘-๒๕๑๙ ราคาเล่นหากันอยู่ที่ประมาณ ๓๐๐-๕๐๐ บาท แล้วแต่สภาพความสวยและความฟิตของผู้ซื้อในขณะนั้น ไม่มีการแยกบล็อกพิมพ์เหมือนเช่นทุกวันนี้ เช่นบล็อกสายฝน บล็อกสิบโท บล็อกเขี้ยว และบล็อกเสาอากาศ บล็อกเสาอากาศเป็นบล็อกที่มีความคมชัดกว่าบล็อกอื่นจึงเป็นบล็อกนิยม ฟังดูก็มีเหตุผลดี สำหรับผู้เขียนเอาความสวยของเหรียญเป็นหลักยึดถือหลักเดิม ค่านิยมราคาปัจจุุบันเล่นหากันอยู่ที่หลักหมื่น
สุพล คีรีวิเชียร
081-0434114
นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร
ประวัติพระเครื่องเมืองนครปฐม ขอแสดงความยินดีที่ท่านสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค๕ และประธานศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เมื่อวันที่๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๘
ประวัติพระเครื่องเมืองนครปฐม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น