คนนครปฐมโดยกำเนิด สำเร็จการศึกษานิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเนติบัณฑิตไทย มีความสนใจและศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพระเครื่อง ตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนอยู่ธรรมศาสตร์

วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

หลวงพ่อเต๋ วัดอรัญญิการาม(วัดสามง่าม)


พระครูภาวนาสังวรคุณ ( เต๋ คงฺคสุวณฺโณ )
เทพเจ้าแห่งอำเภอดอนตูม


          เมื่อพูดถึงวัดสามง่าม  ทุกท่านคงจะนึกถึงหลวงพ่อเต๋ คงทองหรือพระครูภาวนาสังวรคุณ ซึ่งเป็นเกจิอาจารย์ที่ทุกท่านรู้จักเป็นอย่างดี ดังนั้นก่อนจะพูดถึงประวัติพระครูภาวนาสังวรคุณ(เต๋ คงฺคสุวณฺโณ) ผู้เขียนขอเท้าความประวัติวัดสามง่ามพอสังเขปก่อน วัดสามง่ามเป็นวัดราษฎร์ อยู่เลขที่ ๔๓๔ หมู่  ๔ ตำบลสามง่าม อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม แต่เดิมชื่อวัดดอนตูม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกห่างจากวัดสามง่ามในปัจจุบันประมาณ ๓ กิโลเมตร โดยมีอธิการแดงหรือหลวงลุงแดงเป็นเจ้าอาวาส หลวงลุงแดงท่านนี้มีศักดิ์เป็นลุงของหลวงพ่อเต๋ พื้นที่บริเวณวัดมีสภาพแห้งแล้งกันดารขาดแคลนน้ำ ชาวบ้านต่างทยอยอพยพครอบครัวไปอยู่ที่อื่น พระอธิการแดงว่าอยู่ต่อไปก็คงลำบาก จึงย้ายวัดมาก่อสร้างวัดใหม่ที่ตำบลสามง่าม เมื่อประมาณปีพ.ศ.๒๔๔๗ ตั้งชื่อว่า"วัดสามง่าม" ต่อมามีประกาศพระบรมราชโองการพระราชทานเขตวิสุงคามสีมา เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๙ มิถุนายน ร.ศ.๑๒๗ ว่า "วัดอรัญญิการาม
         หลวงพ่อเต๋ คงทอง นามเดิมว่า "เต๋ สามงามน้อย"เกิดเมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๗ปีเถาะ ตรงกับ วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๔ ณ บ้านสามง่าม หมู่ที่๔ อำเภอกำแพงแสน(ขณะนั้นยังไม่ได้ยกขึ้นเป็นอำเภอดอนตูม) จังหวัดนครปฐม โยมบิดาชื่ิอ จันทร์ โยมมารดาชื่อ  บู่ นามสกุล"  สามงามน้อย" ท่านเป็นบุตรคนที่ ๕ ในจำนวนพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๗ คน
          เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๔๑ พระอธิการแดงหรือหลวงลุงแดง ได้มาพบเด็กชายเต๋ ซึ่งขณะนั้นท่านอายุได้ ๗ ปี และได้พาท่านไปอยู่วัดกาหลงจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นวัดที่หลวงลุงแดงจำพรรษาอยู่ เพื่อให้เด็กชายเต๋ ได้เรียนหนังสือและธรรมะ หลวงลุงแดงเป็นพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังรูปหนึ่งในขณะนั้น เด็กชายเต๋ได้ศึกษาเล่าเรียนที่วัดกาหลงเป็นเวลาประมาณ ๓ ปี หลวงลุงแดงก็พาเด็กชายเต๋เดินทางกลับมาอยู่ที่ดอนตูมเพื่อก่อสร้างวัดใหม่ชื่อวัดดอนตูมดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นเมื่อปีพ.ศ.๒๔๔๔ ต่อมาได้ย้ายวัดมาสร้างวัดใหม่ที่บ้านสามง่าม ให้ชื่อว่า "วัดสามง่าม"ในปัจจุบันนี้
          เมื่อหลวงพ่อเต๋อายุได้ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรโดยมีหลวงลุงแดงเป็นพระอุปัชฌาย์ และได้ศึกษาพระธรรมวินัยกับหลวงลุงแดง รวมทั้งร่วมก่อสร้างวัดใหม่ไปพร้อมกัน หลวงลุงแดงท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เชี่ยวชาญพุทธาคม มีลูกศิษย์เคารพนับถือมากมาย หลวงพ่อเต๋มีศักดิ์เป็นหลานของท่าน จึงได้รับการถ่ายทอดวิชาอาคมจนหมดสิ้นความรู้ของหลวงลุงแดง
          พศ.๒๔๕๕ พลวงพ่อเต๋มีอายุได้ ๒๑ ปี หลวงลุงแดงก็กำหนดให้บวชเป็นพระภิกษุที่่วัดสามง่าม โดยถือเอาฤกษ์วันเดียวกับวันที่วัดสามง่ามฝังลูกนิมิตเป็นมงคลฤกษ์ โดยมีพระครูอุตตรการบดี(ทา) วัดพะเนียงแตก เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสมุห์เทศ วัดทุ่งผักกูดเป็นพระกรรมวาจาจารย์ เจ้าอธิการจอม วัดลำเหยเจ้าคณะตำบลสามง่าม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาในวันอุปสมบทว่า "คงทอง" ฉายาเป็นภาษาบาลีว่า "คงฺคสุวณฺโณ"
          หลังจากบวชและงานฝังลูกนิมิตผ่านไป หลวงลุงแดงก็อาพาธลง วันหนึ่งท่านเรียกหลวงพ่อเต๋เข้าไปหาและสั่งว่า"อย่าทิ้งวัด ตัวท่านจะกลับไปตายที่วัดกาหลง" หลวงพ่อเต๋ก็รับคำสั่งจัดการเอาหลวงลุงแดงขึ้นเกวียน เดินทางไปยังวัดกาหลง พอถึงวัดกาหลงได้พาหลวงลุงแดงขึ้นกุฏิเก่าของท่าน ท่านก็สั่งเสียได้ครู่เดียวเท่านั้น หลวงลุงแดงก็ละสังขาร เมื่อจัดการเผาศพหลวงลุงแดงเรียบร้อยแล้ว ก็เก็บอัฐิส่วนหนึ่งไว้ในย่าม แล้วเดินทางกลับวัดสามง่าม
          เมื่อสิ้นบุญหลวงลุงแดงแล้ว หลวงพ่อเต๋ก็ได้มาปรณนิบัติรับใช้หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านเพื่อเรียนวิชาคาถาอาคม และเรียนวิปัสสนากรรมฐานและคันถธุระ ระหว่างที่ท่านปรณนิบัติรับใช้พระอุปัชฌาย์ของท่าน หลวงพ่อเต๋จึงต้องไปมาระหว่างวัดพะเนียงแตกกับวัดสามง่ามจนกระทั่งหลวงพ่อทามรณภาพในปีพ.ศ.๒๔๕๙ หลวงพ่อเต๋ก็ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง ตามคำสั่งของหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก เพื่อศึกษาวิชาอาคมต่อไป
          หลวงพ่อเต๋ เมื่อได้ศึกษาพระธรรมวินัยและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานและคันถธุระ มานานพอสมควรก็ถึงเวลาที่จะทดสอบสมาธิ และการเจริญวิปัสสนากรรมฐานของท่านว่าเข้มแข็งเพียงใด และบททดสอบที่ดีที่สุด คือ การเดินธุดงค์
          ดังนั้นการเดินธุดงค์ของหลวงพ่อเต๋ก็เหมือนการเดินธุดงค์ของพระภิกษุทั่วๆไป กล่าวคือ การเดินธุดงค์เข้าไปในป่าลึก ที่ทุรกันดารซึ่งเต็มไปด้วยความยากลำบากและภยันตรายจากสัตว์ดุร้ายต่างๆในป่าเป็นการทดสอบว่าร่างกายและจิตใจทนต่อความลำบากได้หรือไม่ การเดินธุดงค์ของหลวงพ่อเต๋นอกจากจะเป็นการทดสอบตัวท่านแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ท่านได้พบอาจารย์ต่าง ๆ หลายรูปแบบ แต่ท่านอาจารย์ที่หลวงพ่อเต๋ให้ความศรัทธานับถือมาก ก็คือสมณพราหมณ์ชาวเขมรที่เขาตะลุงป่าลึก จังหวัดกาญจนบุรี ท่านจึงปักษ์กรดอยู่ ณ แห่งนั้น เพื่อศึกษาไสยเวทย์กับท่านอาจารย์พราหมณ์  หลวงพ่อเต๋ได้ศืกษาไสยศาสตร์กับท่านอาจารย์พราหมณ์นานหลายปี จึงเกิดความสนิทสนมและเป็นที่โปรดปราณของท่านอาจารย์พราหมณ์  กระทั่งวันลากลับไปวัดสามง่าม ท่านอาจารย์พราหมณ์ได้มอบตำรา และฤาษีปู่ครู ถวายเป็นกรรมสิทธิ์แด่หลวงพ่อเต๋ ฤาษีปู่ครู ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่วัดสามง่าม และมีพิธีบูชาครูทุกปี
          ปี พ.ศ.๒๔๗๒ หลวงพ่อเต๋เดินธุดงค์กลับวัดสามง่าม และจำพรรษาได้ ๓ ปี อายุได้ ๔๑พรรษา ตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๗๕  ท่านได้รับแต่งตั้งจากเจ้าคณะจังหวััด ขณะนั้นคือ พระปฐมนคราจารย์( วงศ์ โอทาตวณฺโณ) เจ้าอาวาส วัดสัมปทวน นครชัยศรี ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสามง่าม และเจ้าคณะตำบลในปีต่อมา
          แต่เดิมวัดสามง่ามยังไม่มีความเจริญ ดังนั้นการเรียนพระปริยัติธรรมตลอดจนการศึกษาของประชาชนจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก การอนามัยล้าหลังไม่ทันสมัย การคมนาคมที่ติดต่อกับภายนอกก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก สิ่งต่าง ๆที่กล่าวมานี้หลวงพ่อเต๋ท่านก็ได้ดำเนินการก่อสร้างจนเป็นที่เรียบร้อย ตลอดจนการก่อสร้างถนนสายต่าง ๆให้ทันสมัย  แม้ทางด้านการปกครองท่านก็ดูแลเอาใจใส่พระ เณรเป็นอย่างดี  มีเมตตา ช่วยเหลือต่อชาวบ้านให้อยู่ดีกินดี และเป็นที่พึ่งทางใจในยามที่ชาวบ้านทุกข์ร้อน จนชาวบ้านให้ขนานนามว่า" เทพเจ้าแห่งอำเภอดอนตูม" ด้วยคุณงามความดีของท่าน หลวงพ่อเต๋ จึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ "พระครูภาวนาสังวรคุณ"
          พระครูภาวนาสังวรคุณ( เต๋ คงฺคสุวณฺโณ ) เป็นสัมภารวัดสามง่ามรูปที่ ๒ มรณภาพ เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๒๔  ในระหว่างที่ท่านมีชีวิต ท่านได้สร้างวัตถุมงคลและเครื่องลางของขลังไว้มากมาย แต่บทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะวัตถุมงคลที่สร้างชื่อเสียงแก่ท่าน คือ
          ๑. ตุ๊กตาทองหรือที่ชาวบ้านรู้จักในนามกุมารทอง เป็นวัตถุมงคลที่ชาวบ้านกล่าวขานถึงกันมากถึงความศักดิ์สิทธิ์ ท่านสร้างตามตำราท่านฤาษีปู่ครูซึ่งค่อนข้างยุ่งยากมาก โดยนำดินโปร่งในป่า ๗ แห่งมาผสมกับผงเสกต่าง ๆของท่าน ขณะปั้นต้องเรียกขานนามและพูดคุยกับตุ๊กตาเสมือนตุ๊กตามีชีวิต ผู้ที่จะสร้างให้ตุ๊กตาเกิดอิทธิฤทธิ์ได้ต้องสำเร็จวิชามหาภูติสี่ คือ เรียกภูติ ปลุกภูติ ผูกภติ และขับภูติ อันเป็นวิชาในหมวดอาถรรพ์พระเวทย์


ตุ๊กตาทอง


          ๒. เหรียญปั้มรุ่นแรกใบสาเก เป็นเหรียญที่ระลึกในงานฉลองศาลาการเปรียญ พ.ศ.๒๔๙๑
เหรียญหลวงพ่อเต๋ รุ่นแรก ปีพ.ศ. 2491


          ๓. พระกริ่งคงทองหรือพระกริ่งสวนเต่า เป็นพระกริ่งที่หลวงพ่อเต๋ได้จัดสร้างขึ้นตามสูตรการสร้างพระกริ่งสายวัดสุทัศน์โดยคณะศิษย์สายสมเด็จพระสังฆราชแพได้มาร่วมพิธี และในการสร้างพระกริ่งครั้งนี้ ได้จัดพิธีใหญ่ตามตำราของสมเด็จพระสังฆราชแพ การลง น ๑๔ พระยันต์ ๑๐๘ และผสมเนื้อตามสูตรสมเด็จพระสังฆราช แพ  โดยจัดพิธีเทหล่อพระที่วัดสามง่าม เมื่อปีพ.ศ.๒๕๐๐ เป็นรูปพระพุทธประทับนั่งบนบัวสองชั้นปางมารวิชัยสะดุ้งกลับ พระหัตถ์ขวาถือสังข์ พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระบาทขวา ส่วนด้านหลังที่ฐานมีข้อความว่า "คงทอง พ.ศ.๒๕๐๐" มีสองพิมพ์คือ พิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก เนื้อของพระกริ่งออกกระแสร์แดงคล้ายสีมันเทศ เมื่อถูกสัมผัสเนื้อจะกลับดำตามสูตรพระกริ่งวัดวัดสุทัศน์หรือเรียกว่า "สัมฤทธิ์เดช" (สัมฤทธิ์ แปลว่า สำเร็จด้วยอิทธิฤทธิ์ สัมฤทธิ์ถือกันว่าเป็นมงคลกันเสนียดจัญไรได้) ส่วนผสมของเนื้อพระกริ่งประกอบด้วยแร่โลหะหลายชนิด ได้แก่ ทองคำ  เงิน ทองแดง ชิน ปรอท สังกะสี เจ้าน้ำเงินและโลหะอื่น ชนวนและโลหะเก่าที่หลวงพ่อได้สะสมใว้ ตลอดจนแผ่นทองคำ เงินและทองแดงที่หลวงพ่อเต๋ได้ลงอักขระ เลขยันต์ต่างๆ นับได้ว่าเป็นพระเครื่องที่ดีที่สุดที่หลวงพ่อเต๋เคยสร้างมา โดยบรรดาศิษย์หลวงพ่อเต๋เชื่อว่ามีพุทธาคุณสูงกว่าตระกรุดหรือเครื่องรางตลอดจนพระเครื่องรุ่นอื่นๆของท่าน ค่านิยมพิมพ์ใหญ่เกือบแสนบาท พิมพ์เล็กประมาณหกหมื่นบาท จำนวนพระทั้งหมด ประมาณ 500องค์(พิมพ์เล็กประมาณ 400 องค์ พิมพ์ใหญ่ประมาณ 100 องค์)




พระกริ่งสวนเต่าพิมพ์ใหญ่ ปีพ.ศ.2500





พระกริ่งสวนเต่าพิมพ์เล็ก ปีพ.ศ. 2500


          แม้แต่หลวงพ่อแย้ม เจ้าอาวาสวัดสามง่าม รูปปัจจุบันท่านก็ยังพกพระกริ่งสวนเต่าอยู่ในย่ามของท่านตลอดเวลาและใช้พระกริ่งแช่น้ำทำน้ำพุทธมนต์








                                                                                                             นายสุพล คีรีวิเชียร
                                                                                                              081-0434114
                                                              
                     
                       
                                               




























































ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น