คนนครปฐมโดยกำเนิด สำเร็จการศึกษานิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเนติบัณฑิตไทย มีความสนใจและศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพระเครื่อง ตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนอยู่ธรรมศาสตร์

วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2554

สมเด็จผาสุก (พิมพ์เล็ก) เจ้าคุณนรฯ วัดเทพศิรินทราวาส




            พระภิกษุธัมมวิตักโกหรือที่ชาวบ้านรู้จักท่านในนามเจ้าคุณนรฯ ท่านเกิดวันเสาร์ที่ ๕ กุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๔๔๐ ตรงกับขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ตรงกับวันมาฆบูชา ปีระกา เวลาประมาณ ๗.๒๔ น. เดิมชื่อนายตรึก จินตยานนท์ เป็นบุตรคนโตของนายตรอง นางพุก จินตยานนท์ (นายตรอง จินตยานนท์ อดีตคือพระคุณนรนาฎภักดี นายอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี)
           ท่านเจ้าคุณนรฯวัยเด็กท่านมีรูปร่างเล็กบอบบาง ผิวพรรณละเอียดอ่อนเปล่งปลั่งเป็นน้ำเป็นนวล อันเป็นลักษณะของผู้มีสกุลชาตฺ ผู้มีบุญวาสนาสูง เมื่อถึงวัยอันสมควร ท่านได้เข้าศึกษาเรียนหนังสือชั้นประถมที่โรงเรียนวัดโสมนัสและศึกษาต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร เมื่อศึกษาจบแล้ว เดิมทีท่านตั้งใจจะเรียนแพทย์ เพื่อจะได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย แสดงให้เห็นว่าท่านมีจิตใจเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ แต่พระคุณวรนาฎภักดีบิดาของท่าน ต้องการให้บุตรชายเป็นนักปกครองเจริญรอยตามบุพการี ท่านเจ้าคุณนรฯเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย สูงด้วยความเคารพต่อบิดา จึงต้องทำตามประสงค์ของบิดา เจ้าคุณนรฯท่านจึงเข้าศึกษาขั้นอุดมศึกษาที่โรงเรียนข้าราชการพลเรือนหอวัง ต่อมาได้ยกฐานะเป็นคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย สำเร็จเป็นรัฐศาสตร์บัณฑิต รุ่นแรก
          เมื่อท่านสำเร็จการศึกษาแล้ว ได้รับราชการในกรมมหาดเล็กหลวง แผนกตั้งเครื่อง ตำแหน่งมหาดเล็กพิเศษ เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๕๗ และระยะเวลา ๘ ปี ท่านก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯให้เป็นเจ้ากรมห้องพระบรรทม มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยานรรัตนราชมานิต เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๕ ขณะนั้นมีอายุได้ ๒๕ ปี และเป็นองคมนตรีในรัชกาลที่ ๖ เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๗
          ท่านเจ้าคุณนรฯรับราชการจนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตท่านได้อุปสมบท(บวชหน้าไฟ) เพื่ออุทิศเป็นพระราชกุศล ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เนื่องในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ.๒๔๖๘ ณ วัดเทพศิรินทราวาส โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(เจริญ ญาณวรเถระ) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า"ธมฺมวิตกฺโก"
          เมื่อท่านธัมมวิตักโก ได้อุปสมบทแล้ว ท่านตั้งใจว่าจะบวชทดแทนคุณในหลวงรัชกาลที่ ๖ ระยะเวลาหนึ่ง แล้วท่านก็จะลาสิกขาเพื่อไปรับราชการต่อไปและมีครอบครัว เมื่อท่านได้ศึกษาและปฏิบัติตนตามคำสั่งสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็ทราบซึ้งในพระธรรม เล็งเห็นว่า ลาภ ยศ สรรเสริญเป็นความสุขที่ไม่ยั่งยืน ท่านจึงตันสินใจจะครองสมณเพศตลอดชีวิตของท่าน ทั้งๆที่ท่านมีตำแหน่งหน้าที่ทางราชการรอท่านอยู่ ตลอดจนทรัพย์สมบัติและโอกาสที่จะหาความเจริญในทางโลกต่อไปอย่างพร้อมมูล
          เมื่อท่านแน่วแน่ว่าจะปฏิบัติธรรมตลอดชีวิตของท่าน การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานของท่านก็เจริญก้าวหน้าจนหาพระภิกษุรูปอื่นเทียบท่านได้ ท่านสามารถถอดจิตไปในสถานที่ต่างๆ แม้สถานที่นั้นจะอยู่ต่างประเทศอันเป็นแดนไกลก็ตาม ท่านได้แสดงปาฏิหาริย์มากมายหลายครั้ง จนเกิดเสียงร่ำลือของคนไทยทั้งประเทศว่าท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์
          การปฏิบัติธรรมของท่านเจ้าคุณนรฯ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของคนไทยทั้งประเทศ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะอยู่ในฐานะใดทุกระดับชั้น แม้แต่ข้าราชการที่มีตำแหน่งสูงถึงนายกรัฐมนตรี และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ระดับผู้บัญชาทหารบก ได้แก่นายสัญญา ธรรมศักดิ์ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช และพลเอกกฤษณ์ สีวะรา ก็ให้ความเคารพนับถือท่าน โดยเฉพาะหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชได้เคยเข้าไปกราบนมัสการท่านเจ้าคุณนรฯ ที่พระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาส หลังจากท่านเจ้าคุณนรฯทำวัตรเสร็จ ก็ได้พูดคุยถามถึงสาระทุกข์สุกดิบสุขภาพของท่านสบายดีหรือไม่ เจ็บไข้ได้ป่วยหรือเปล่า และเรื่องอื่นๆ เมื่อสบโอกาสเหมาะ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชจึงเรียนถามท่านว่า"เกล้าฯได้ยินข่าวร่ำลือว่าพระเดชพระคุณท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์จริงหรือขอรับ" เมื่อท่านเจ้าคุณนรฯได้ยินคำถามของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านก็กวักมือเรียกหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชให้เข้ามาใกล้ๆท่านและพูดตอบกระซิบว่า"เธอจะบ้าหรือไง" ผู้เขียนเข้าใจว่าคำตอบของท่านเจ้าคุณนรฯ มิใช่คำตอบรับหรือปฏิเสธ แต่เป็นคำตอบที่มีลักษณะตำนิติเตียนว่าไม่ควรถามคำถามนี้ต่อพระภิกษุ เป็นคำถามที่ไม่เหมาะสมไม่สมควรเพราะถ้าพระภิกษุตอบรับหรือปฏิเสธ ก็จะมีผลเสียหายมากกว่าผลดี ถ้าท่านตอบรับว่าสำเร็จเป็นพระอรหันต์ บุคคลอื่นที่มีใจอิษฉาริษยา จะกล่าวโจมตีว่าเป็นการโอ้อวดคุณวิเศษยกตนข่มผู้อื่น แต่ถ้าท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์จริง แล้วท่านกล่าวปฏิเสธ ก็จะเป็นการกล่าวเท็จผิดศิล ซึ่งผิดกับปัจจุบันนี้ พระภิกษุไม่ว่าหัวหงอกหรือหัวดำมักจะอวดอุตริอ้างว่าตนเองสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ผู้เขียนไม่ทราบว่าท่านทำเพื่ออะไร ?
          หลังจากที่ท่านเจ้าคุณนรฯมรณภาพเมื่อวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๔ ชื่อเสียงของท่านก็เริ่มโด่งดัง  โดยเฉพาะปีพ.ศ.๒๕๑๖-๒๕๑๘ชื่อเสียงของท่านดังทั่วประเทศ มีเสียงร่ำลือว่าท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์ัดังได้กล่าวมาแล้วแต่ต้น พระเครื่องของท่านจึงเป็นที่นิยมมากของนักสะสมพระเครื่อง มีเสียงร่ำลือว่าพระเครื่องที่ท่านนั่งปรกปลุกเสกเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๓ซึ่งมีจำนวนมาก ได้จำหน่ายหมด แต่ประชาชนยังมีความต้องการอีกมาก จึงมีการสร้างเสริมขึ้นมา ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ผู้เขียนไม่ขอยืนยัน ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของท่านผู้อ่าน



สมเด็จผาสุก (พิมพ์เล็ก) บล็อกแตก


สมเด็จผาสุก (พิมพ์เล็ก) บล็อกแตก


สมเด็จผาสุก (พิมพ์เล็ก) บล็อกไม่แตก


           บทความนี้ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงพระสมเด็จผาสุก(พิมพ์เล็ก) ซึ่งเป็นพระที่เข้าพิธี ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๓ ณ พระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งมีจำนวนการสร้างน้อยมาก(ประมาณ ๒,๐๐๐-๓๐๐๐องค์) พระชุดนี้ท่านเจ้าคุณอุดมตั้งใจเอาไว้แจกในงานวันเกิดท่าน จึงไม่มีการจำหน่าย แต่พระชุดนี้ส่วนหนึ่งท่านเจ้าคุณอุดมได้มอบให้เจ้าคุณวัดโพธิ์ จังหวัดสุโขทัย พระชุดนี้จึงตกอยู่จังหวัดสุโขทัยเป็นจำนวนมาก ในกรุงเทพฯหาได้ยาก พระสมเด็จผาสุกเล็กในเวลานั้นคนรู้จักน้อย ผู้เขียนมั่นใจว่าพระชุดนี้ไม่มีการสร้างเสริมแน่นอน
           พระสมเด็จผาสุกเล็กเป็นพระเนื้อผงเช่นเดียวกับสมเด็จหลังอุ ขนาดฐานกว้าง ๑.๕ เซนติเมตร สูง ๒.๒ เซนติเมตร ด้านหลังองค์พระ มีรูปยันต์น้ำเต้า และมีข้อความว่า"ผาสุก" พุทธคุณดีทางด้านเมตตาและแคล้วคลาด ค่านิยมราคาประมาณองค์ละ ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ บาท







                                                                                                      สุพล คีรีวิเชียร
                                                                                                     ๐๘๑-๐๔๓๔๑๑๔       
                                                              
                      
                           
                         
                         
                       
                                                 

                         





























































วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เหรียญระฆังศิริมงคล เสาร์ห้า ปี ๒๕๑๖ หลวงพ่อเกษม เขมโก


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยูหัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
ทรงนมัสการหลวงพ่อเกษม เขมโก

            เมื่อกล่างถึงเหรียญระฆังศิริมงคล เสาร์ห้าหรือเหรียญวีรชน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ของหลวงพ่อเกษม เขมโก ทุกท่านคงจะรู้จักว่าเป็นเหรียญคุณพระที่มีพุทธานุภาพสูง เป็นเหรียญที่สร้างชื่อเสียงให้กับหลวงพ่อเกษม จนเป็นที่รู้จักของคนไทยทั้งประเทศ ก่อนที่จะกล่าวถึงประวัติของเหรียญระฆังศิริมงคลรุ่นนี้ ผู้เขียนขอกล่าวประวัติหลวงพ่อเกษม เขมโก ให้ท่านผู้อ่านทราบพอเป็นสังเขป ดังต่อไปนี้
            หลวงพ่อเกษม เขมโก ท่านเป็นชาวลำปาง กำเนิด วันพุธ แรม ๔ ค่ำ เดือนยี่ (เหนือ) ปีชวด ตรงกับวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๕ เป็นบุตรคนโต ในจำนวนพี่น้องสองคน ของเจ้าหนูน้อย ณ ลำปาง( ต่อมาภายหลังเปลี่ยนนามสกุลใหม่เป็น"มณีอรุณ") รับราชการเป็นปลัดอำเภอ มารดาชื่อเจ้าแม่บัวจ้อน ณ ลำปาง ทั้งสองเป็นหลานเจ้าหลวงบุญวาทย์ วงศ์มานิต
           เมื่อวัยเด็กเจ้าเกษม ณ ลำปางมีรูปร่างค่อนข้างเล็กบอบบาง ผิวขาว แต่ดูเข้มแข็งคล่องแคล่ว มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เป็นเด็กซน คืออยากรู้อยากเห็น เมื่อถึงวัยเรียน เจ้าเกษม ณ ลำปาง เข้าศึกษาชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนบุญทวงค์อนุกูล จนเรียนจบชั้นสูงสุดของโรงเรียน คือ ประถมปีที่ ๕ ขณะนั้นอายุได้ ๑๑ ปี ในปี พ.ศ.๒๔๖๖
           เมื่อออกจากโรงเรียน ก็ไม่ได้ศึกษาต่อ อยู่บ้าน ๒ ปี ในปี พ.ศ.๒๔๖๘ อายุได้ ๑๓ ปี เจ้าเกษม ณ ลำปางก็ได้เข้าสู่กาสาวพัสตร์ โดยพรรพชาเป็นสามเณรหน้าศพ(บวชหน้าไฟ) เจ้าอาวาสวัดป่าตัวะ บวชได้ ๗ วัน ก็ลาสิกขา ต่อมาอีก ๒ ปีราว พ.ศ.๒๔๗๐ อายุได้ ๑๕ ปี เจ้าเกษม ณ ลำปางได้อุปสมบทเป็นสามเณร ที่วัดบุญยืน จังหวัดลำปาง เมื่ออุปสมบทเป็นสามเณรแล้ว สามเณรเกษม ได้จำพรรษาและศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดบุญยืน เรียนพระปริยัติจนสามารถสอบนักธรรมโทได้ในปี พ.ศ.๒๔๗๔ และต่อมาเมื่ออายุครบบวชในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมา วัดบุนยืน โดยมีท่านเจ้าคุณพระธรรมจินดานายก(ฝ่าย) เจ้าอาวาส วัดบุญวาทย์วิหาร เจ้าคณะจังหวัดลำปางในสมัยนั้น ได้เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านพระครูอุตตรวงศ์ธาดา ( ปัญญา ลิ้นทอง ) เจ้าอาวาสวัดหมื่นกาศ เจ้าคณะอำเภอเมืองจังหวัดลำปางเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านพระธรรมจินดานายก ( อุ่นเรือน ) เจ้าอาวาสวัดป่าตัวะ เป็นพระอนุสาวนาจารย์  ได้รับฉายาว่า " เขมโก " แปลว่า ผู้มีธรรมอันเกษม
          ในปี พ.ศ.๒๔๘๖ หลวงพ่อเกษม เขมโก สอบนักธรรมเอกได้
           พระภิกษุเกษม เขมโกเมื่ออุปสมบทแล้ว ได้จำพรรษาที่วัดบุนยืน เมื่อเจ้าอธิการคำเหมย สุธรรม มรณภาพ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบุนยืนก็ตกแก่ พระต่อมคำ (เจ้าต่อมคำ ณ ลำปาง บุตรเจ้าหนานอินตาน้องเจ้าน้อยจู) ต่อมาพระต่อมคำลาสิกขา ความศรัทธาของญาติโยมและคณะสงค์ได้อาราธนาพระภิกษุเกษม เขมโก เข้าดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบุญยืนสืบแทนต่อมา
            เมื่อหลวงพ่อเกษม เขมโก เป็นเจ้าอาวาสวัดบุญยืน ท่านก็ทำหน้าที่อย่างไม่มีข้อบกพร่อง ท่านบริหารจัดการดูแลวัดบุญยืนควบคู่กับการศึกษาพระธรรมวินัย ท่านฝึกฝนสมาธิจิต ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอย่างอดทน ท่านเริ่มเล็งเห็นความไม่เที่ยงแท้แห่งลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นความสุขที่ไม่ยั่งยืน ท่านจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบุญยืน ในปี พ.ศ.๒๔๙๒
            หลวงพ่อเกษม เขมโก ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะปฏิบัติธรรมโดยทางวิปัสสนากรรมฐาน ท่านได้พบครูบาแก่น สุมโน ท่านครูบาแก่น สุมโน ท่านเป็นพระวิปัสสนากรรมฐานสายพระป่า ถือธุดงค์เป็นวัตร ท่านธุดงค์แสวงหาความวิเวกโดยยึดถือป่าเป็นที่บำเพ็ญเพียร นอกจากท่านจะมีความเชียวชาญในด้านวิปัสสนากรรมฐานแล้ว ท่านยังแตกฉานในพระธรรมวินัย หลวงพ่อเกษม เขมโก จึงขอฝากตัวเป็นศิษย์ และแสดงความจำนงขอศึกษาวิปัสสนากรรมฐานและคันถธุระกับครูบาแก่น สุมโน(ท่านครูบาแก่น สุมโน อดีตเจ้าอาวาสวัดประตูป่อง) แต่นั้นมาหลวงพ่อเกษม เขมโก ก็ร่วมเดินธุดงค์กับครูบาแก่น สุมโน และท่านครูบาแก่น สุมโน ได้แนะนำอุบายธรรมแก่หลวงพ่อเกษม เขมโก จนหลวงพ่อเกษม เขมโก แตกฉานในวิปัสสนากรรมฐานและคันถธุระ การฉันอาหารในบาตรคืออาหารคาวหวานรวมกันเรียกว่า "ฉันเอกา" ฉันมื้อเดียว ช่วงบ่ายก็เดินจงกรม แล้วกลับมานั่งสมาธิบำเพ็ญภาวนาต่อไปจนกระทั่งถึงเวลาเย็น ก็สวดมนต์ทำวัตรเย็น และสิ่งที่ปฏิบัติเป็นกิจวัตรคือ การกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญกุศล แผ่เมตตาให้แก่สรรพสัตว์ทั่วไป
             หลวงพ่อเกษม เขมโก ท่านมรณภาพ เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๙ เวลา ๑๙.๔๐ น.ตรงกับวันแรม ๑๑ ค่ำ เดือนยี่ ยังความเศร้าโศกเสียใจมายังคนไทยทั้งประเทศ





เหรียญระฆังศิริมงคล เสาร์ ๕ ปี พ.ศ. ๒๕๑๖


            บทความนี้จะขอกล่าวถึงเหรียญระฆังศิริมงคล เสาร์ห้าหรือเหรียญวีรชน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ซึ่งเป็นเหรียญที่หลวงพ่อเกษม เขมโก ได้จัดพิธีพุทธาภิเษกนั่งปรกปลุกเสก เมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ (ตรงกับวันเสาร์ห้า) และได้นั่งปรกปลุกเสกซ้ำในวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๑๖ ก่อนรุ่งอรุณ เหรียญรุ่นนี้สร้างขึ้นเพื่อหาปัจจัยสร้างศาลเจ้าแม่สุชาดา เหรียญรุ่นนี้มี ๒ เนื้อ คือเนื้อเงินกับเนื้อทองแดง
           
            เหรียญระฆังศิริมงคลเสาร์ห้ารุ่นนี้ เป็นเหรียญที่สร้างชื่อเสียงให้แก่หลวงพ่อเกษม เขมโก จนเป็นที่รู้จักของคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ซึ่งเป็นวันมหาวิปโยค เป็นการแสดงพลังการเมืองของประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อนิสิต นักศึกษา และประชาชนกว่า ๕๐๐,๐๐๐คน ชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญและคัดค้านอำนาจรัฐบาลเผด็จการทหาร
            ในเหตุการณ์นั้น เหรียญระฆังศิริมงคลได้แสดงปาฏิหารย์ คุ้มครองนักศึกษาท่านหนึ่งที่ร่วมชุมนุมประท้วงรัฐบาลเผด็จการ โดยนักศึกษาผู้นั้นได้แขวนเหรียญระฆังศิริมงคลบูชาติดตัวร่วมชุมนุม เมื่อนักศึกษาผู้นั้นได้เห็นทหารทำร้ายประชาชนที่ร่วมชุมนุม จึงเกิดโทสะได้ถือไม้เบสบอลท้าทายจะต่อสู้กับทหารที่ถืออาวุธปืนเอ็ม-16 จนเป็นเหตุให้ทหารใช้ปืนเอ็ม-16ยิงเข้าใส่นักศึกษาผู้นั้น แต่กระสุนหาได้ถูกนักศึกษาผู้นั้นไม่ กระสุนกลับวิ่งเลยไปถูกประชาชนที่ยืนอยู่ด้านหลังนักศึกษาคนนั้น จนเป็นเหตุให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตาย เหตุการณ์นี้สื่อมวลชนได้แพร่ภาพออกอากาศไปทั่วประเทศและต่างประเทศ จากเหตุการณ์นี้ทำให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศรู้จักหลวงพ่อเกษม เขมโก และเหรียญระฆังศิริมงคลเสาร์ห้า
            สมัยที่หลวงพ่อเกษม เขมโกยังมีชีวิต ได้มีศิษย์ของท่านถามท่านว่า พระเครื่องของหลวงพ่อรุ่นไหนดีที่สุด หลวงพ่อเกษม เขมโกท่านตอบว่า...ถ้าอยากดังอยากเด่น ก็ต้องแขวนเหรียญระฆังศิริมงคลติดตัว จะได้ดังเหมือนเสียงระฆัง
            เหรียญระฆังศิริมงคลเสาร์ห้ารุ่นนี้ เมื่อประมาณปีพ.ศ.๒๕๑๘-๒๕๑๙ ราคาเล่นหากันอยู่ที่ประมาณ ๓๐๐-๕๐๐ บาท แล้วแต่สภาพความสวยและความฟิตของผู้ซื้อในขณะนั้น ไม่มีการแยกบล็อกพิมพ์เหมือนเช่นทุกวันนี้ เช่นบล็อกสายฝน บล็อกสิบโท บล็อกเขี้ยว และบล็อกเสาอากาศ  บล็อกเสาอากาศเป็นบล็อกที่มีความคมชัดกว่าบล็อกอื่นจึงเป็นบล็อกนิยม ฟังดูก็มีเหตุผลดี สำหรับผู้เขียนเอาความสวยของเหรียญเป็นหลักยึดถือหลักเดิม ค่านิยมราคาปัจจุุบันเล่นหากันอยู่ที่หลักหมื่น








สุพล  คีรีวิเชียร
081-0434114
                                                              
                       
                       
                     
นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร


                 ประวัติพระเครื่องเมืองนครปฐม ขอแสดงความยินดีที่ท่านสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค๕ และประธานศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เมื่อวันที่๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๘



                                                                                     ประวัติพระเครื่องเมืองนครปฐม