คนนครปฐมโดยกำเนิด สำเร็จการศึกษานิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเนติบัณฑิตไทย มีความสนใจและศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพระเครื่อง ตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนอยู่ธรรมศาสตร์

วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พระกริ่งพระพุทธภูมิประทานพร วัดพระปฐมเจดีย์ รุ่นเสาร์ห้า ปีพ.ศ.๒๕๑๒


องค์พระปฐมเจดีย์


ภาพวาดองค์พระปฐมเจดีย์

           พระธรรมศิริชัยหรือท่านเจ้าคุณชิต อดีตเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหารรูปที่ ๗ และอดีตเจ้าคณะภาค ๑๔ ท่านเกิดที่บ้านเกาะเรียน ตำบลเกาะเรียน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันอังคารที่ ๒๒ เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๔๐นามเดิมชื่อ ชิต วิบูลย์จันทร์



พระธรรมศิริชัย ( ชิต วิปุโล )
เอื้อเฟื้อภาพโดย นายสุธี  สูงกิจบูลย์

           ในปี พ.ศ.๒๔๕๔ ได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยมีพระอธิการบุญ เป็นพระอุปัชฌาย์ ณ วัดช่างทอง ตำบลเกาะเรียน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังบวชแล้วได้ย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและบาลี โดยพระอธิการบุญ พระอุปัชฌาย์ของท่านเป็นผู้นำไปฝากไว้กับท่านเจ้าคุณพระราชเทวี (หรุ่ม อมรรักษ์)ปธ.๙
           ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๔๖๑ ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงโปรดเกล้ารับไว้เป็นนาคหลวงเป็นกรณีพิเศษ และทรงเป็นโยมปวารณาด้วย สมเด็จพระวันรัต(จ่าย) เมื่อครั้งยังเป็นพระธรรมวโรดม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระธรรมวโรดม(โชติ) ครั้งยังเป็นพระนิกรมมุณี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ สมเด็จพระสังฆราช(ปลด) เมื่อครั้งยังเป็นพระศรีวิสุทธิวงค์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ แล้วได้รับฉายาว่า "ชิต วิปุโล"
          เมื่ออุปสมบทแล้ว ก็จำพรรษาอยู่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกนักธรรมและบาลี ด้วยความวิริยะอุตสาหะจนสอบได้เปรียญธรรมห้าประโยค ในปี พ.ศ.๒๔๖๓ จากนั้นท่านได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดพระปฐมเจดีย์ เพื่อเป็นกำลังสำคัญของเจ้าคุณโชติในการจัดระบบการศึกษาของพระภิกษุและสารเณรภายในวัดพระปฐมเจดีย์ ต่อมาตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาครวางลง ท่านเจ้าคุณธรรมวโรดม(โชติ) เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ ขณะนั้นเป็นพระราชสุธี ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลนครชัยศรีในเวลานั้น ได้พิจารณาเห็นสมควรให้ย้ายท่านไปเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาครและเจ้าอาวาสวัดตึกมหาชยรามในปี พ.ศ.๒๔๖๙
           ตำแหน่งทางคณะสงฆ์
           วันที่ ๓ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๓ เป็นพระอุปัชฌาย์ในเขตปกครองจังหวัดสมุทรสาคร
           วันที่่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๓ เป็นเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ "พระสมุทรคุณากร"
           วันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๖ เป็นรองเจ้าคณะมณฑลนครชัยศรี
            ปี พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นรองเจ้าคณะมณฑลราชบุรี
           วันที่๓ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๖ เป็นเจ้าคณะตรวจการผู้ช่วยภาค ๑
            ปี พ.ศ.๒๔๙๒ เป็นเจ้าคณะตรวจการผู้ช่วยภาค ๒
            วันที่ ๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๕ ย้ายกลับมารับตำแหน่งรองเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร และเป็นเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม สืบต่อพระปฐมนคราจารย์(วงศ์ โอวาตวัณโณ)ในปีเดียวกัน
            วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๘ เป็นเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร สืบต่อจากพระธรรมวโรดม(โชติ)
             ปี พ.ศ.๒๕๐๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่"พระธรรมศิริชัย"
             มรณภาพ เมื่อบ่ายวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๗ รวมพระชนมายุได้ ๘๖ ปี ๗ เดือน
            สมัยที่ท่านได้มาจำพรรษาที่วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหารในตำแหน่งรองเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร ท่านได้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของพระภิกษุและสามเณรภายในวัดพระปฐมเจดีย์ฯ และเป็นกำลังสำคัญของท่านเจ้าคุณธรรมวโรดม(โชติ) ในการพัฒนาวัดพระปฐมเจดีย์ฯให้เจริญรุ่งเรือง รวมทั้งการจัดระเบียบวินัยของพระสงฆ์ และการทนุบำรุงถาวรวัตถุโบราณต่างๆภายในวัด เป็นการแบ่งเบาภาระของเจ้าคุณธรรมวโรดม(โชติ)อย่างมากมาย ด้วยคุณงามความดีและความสามารถของท่าน ท่านจึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ฯ สืบต่อจากเจ้าคุณธรรมวโรดม(โชติ)
            เมื่อท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์แล้ว ชีวิตของท่านยังทำงานหนักด้วยความเสียสละ ท่านลำบากตรากตรำเหนื่อยกับงาน ท่านยังเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกนักธรรมและแผนกบาลี  เพราะในสมัยนั้นหาครูสอนพระปริยัติธรรมได้ยาก อีกทั้งท่านยังต้องพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองดูแลบูรณปฏิสังขรณ์วัตถุโบราณต่างๆภายในวัด จึงมีเวลาพักผ่อนน้อยมาก นับได้ว่าท่านเป็นพระที่เสียสละจริงๆ
          พระกริ่งพระพุทธภูมิประทานพร วัดพระปฐมเจดีย์ รุ่นเสาร์ห้า ปี พ.ศ.๒๕๑๒
           พระกริ่งปางประทานพรที่ผู้เขียนจะกล่าวในบทความนี้คือ พระกริ่งพระพุทธภูมิประทานพรที่พระธรรมศิริชัย(ชิต) ได้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๑๒ และวันที่ทำพิธีพุทธาภิเษกตรงกับวันเสาร์ห้าปลุกเศกเป็นเวลาสามวันสามคืนเป็นพิธีใหญ่มาก สาเหตุแห่งการสร้างพระพุทธภูมิประทานพร คืนหนึ่งท่านเจ้าคุณศิริชัย(ชิต)ได้นิมิตเห็น พระพุทธรูปปางประทานพรที่มีพุทธลักษณะงดงามมาก และเปล่งรัศมีสว่างไสวเป็นสีทอง จึงถือว่าเป็นนิมิตที่ดี และทรงตั้งพระนามว่า "พระพุทธภูมิประทานพร"
           พระพุทธภูมิประทานพรที่ท่านเจ้าคุณชิตได้สร้างในครั้งนี้ มีทั้งพระบูชา และพระเครื่องในรูปของพระกริ่ง



พระบูชาพระพุทธภูมิ ประทานพร หน้าตัก ๙ นิ้ว รุ่นเสาร์ ๕ ปี พ.ศ. ๒๕๑๒


พระบูชาพระพุทธภูมิ ประทานพร หน้าตัก ๕ นิ้ว รุ่นเสาร์ ๕ ปี พ.ศ. ๒๕๑๒

           พระบูชามีขนาดหน้าตักกว้าง ๙ นิ้ว และหน้าตักกว้าง ๕ นิ้ว เป็นรูปพระพุทธนั่งขัดสมาธิยกพระหัตถ์ทั้งสองข้างขึ้นอยู่บริเวณใต้อกเล็กน้อยในลักษณะดีดน้ำมนต์ ที่ฐานด้านหน้าพระบูชา จะมีรอยขีดเขียนข้อความว่า"พระพุทธภูมิประทานพร"  ส่วนด้านหลังมีรูปองค์พระปฐมเจดีย์และมีข้อความว่า"วัดพระปฐมเจดีย์"อยู่เหนือองค์พระปฐมเจดีย์ และที่ใต้องค์พระปฐมเจดีย์มียันต์สองตัวเป็นเนื้อทองผสม
           ส่วนพระกริ่งพระพุทธภูมิประทานพรเป็นพระกริ่งที่มีพุทธลักษณะงดงามมาก และมีรูปลักษณะคล้ายพระบูชามาก จะผิดกันก็ตรงด้านหลังตรงบริเวณฐานของพระกริ่งจะมีตัวเลขไทย"๒๕๑๒"ส่วนพระบูชาจะมียันต์สองตัวดังได้กล่าวมาแล้ว



พระกริ่งพระพุทธภูมิ ประทานพร รุ่นเสาร์ ๕ ปี พ.ศ.๒๕๑๒


พระกริ่งพระพุทธภูมิ ประทานพร รุ่นเสาร์ ๕ ปี พ.ศ.๒๕๑๒


          พระกริ่งพระพุทธภูมิประทานพร  เนื้อพระกริ่งเป็นเนื้อนวโลหะกลับดำคล้ายพระกริ่งพรหมมุนี ของเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช(แพ) เนื้อพระจึงออกกระแสแดง และมีทองชนวนพระคันธาราฐ ปี พ.ศ.๒๔๗๖ และเศษพระชำรุดสมัยทวารวดีตลอดจนแผ่นทองที่ลงอักขระโดยเกจิอาจารย์ที่ร่วมปลุกเสกผสมอยู่ จำนวนการสร้างพระกริ่งครั้งนี้ประมาณ ๕๐๐ องค์
            เกจิอาจารย์ที่ร่วมพิธีพุทธาภิเษกมีดังต่อไปนี้
            ๑.หลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา
            ๒.หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม
            ๓.หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี
            ๔.หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม  
            ๕.หลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่และยังมีเกจิอาจารย์อีกหลายท่านที่ผู้เขียนยังไม่ทราบ
           พระกริ่งพระพุทธภูมิประทานพร นอกจากจะเป็นพระกริ่งที่มีพุทธลักษณะงดงามมากแล้ว ยังเป็นพระกริ่งที่เปี่ยมด้วยพุทธคุณทางด้านเมตตามหานิยมและดีทางค้าขาย โชคลาภ อีกทั้งทางด้านคงกระพันชาตรีและแคล้วคาดก็เป็นเลิศ ถ้าท่านผู้อ่านไม่มีพระกริ่งวัดสุทัศน์ไว้บูชา จะบูชาพระกริ่งพระพุทธภูมิประทานพรแทนก็ได้รับประกันพุทธคุณไม่หนีกัน และประการสุดท้ายราคาเช่าหาก็ถูกมากๆคือราคาประมาณ ๒ พันบาทแต่องค์ที่สวยแชมป์เคยมีคนขายได้ถึง 5,000 บาท จึงเป็นพระกริ่งที่น่าสะสมและเป็นพระที่มีอนาคต






สุพล   คีรีวิเชียร
081-0434114

     
                                                              
                       
                   
                         
                       
                         
                                                   

                              






























































วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พระกริ่งและพระยอดธง วัดบางแขม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม


พระอุโบสถหลังใหม่ วัดบางแขม ด้านหน้า




พระอุโบสถหลังใหม่ วัดบางแขม ด้านข้าง

            วัดบางแขม ตั้งอยู่ริมคลองบางแขม ตำบลบางแขม จังหวัดนครปฐม อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๗ กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ ๒๒ ไร่ ๑ งาน ๖๐ ตารางวา เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น(ประมาณ ๒๐๐ ปีเศษ) วัดนี้ปรากฎหลักฐาน เมื่อ ประมาณปี พ.ศ.๒๔๖๐กว่า ในสมัยหลวงพ่อแก้วเป็นเจ้าอาวาส สภาพวัดมีเพียงพระอุโบสถ ๑ หลัง ศาลาการเปรียญ ๑ หลัง และกุฎิสงฆ์ ๔ หลัง เมื่อหลวงพ่อแก้วมรณภาพลง เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๖๕  ทางคณะสงฆ์ได้แต่งตั้งหลวงพ่อยิ้ว จนฺทสฺโร จากวัดห้วยจรเข้ มารักษาการตำแหน่งเจ้าอาวาส และต่อมาก็ได้แต่งตั้งท่านเป็นเจ้าอาวาส
            ลำดับเจ้าอาวาสวัดบางแขม
              ๑.หลวงพ่อแก้ว
              ๒.พระครูอุตตรการบดี(ยิ้ว จนฺทสฺโร)
              ๓.พระครูสมุห์เที่ยง มหาปญฺโญ
              ๔. พระครูพิพัฒน์สุตกิจ(พระมหาประดับ ฐิตเมโธ)  เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน



            หลวงพ่อยิ้วหรือพระครูอุตตรการบดี (ยิ้ว) เป็นบุตรนายหงำ นางสุ่น ผิวหมดจด เกิดวันอังคารที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๔๓๖ ที่ตำบลลำพยา อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๑๐ คน หลวงพ่อยิ้วเป็นคนที่ ๓ เมื่ออายุครบ ๑๐ ปี ได้อุปสมบท ณ วัดใหม่ปีนเกลียว เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๔๕๖มีฉายาว่า"จนฺทสฺโร" โดยมีพระครูธรรมสุนทร(ดี) วัดบ้านยาง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการเขียว วัดใหม่ปีนเกลียว เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการสุข(พระครูอุตตรการบดี) วัดห้วยจรเข้  เป็พระอนุสาวนาจารย์
           หลวงพ่อยิ้วเมื่อบวชแล้ว ได้จำพรรษาที่วัดห้วยจรเข้ เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย วิปัสสนากรรมฐานและคันธถุระ ตลอดจนวิชาอาคมจากหลวงพ่อสุขหรือพระครูอุตตรการบดี(สุข) จนมีความเชียวชาญในวิปัสสนากรรมฐานและวิชาอาคม นอกจากนี้ท่านยังได้ไปศึกษาวิชาอาคมจากหลวงปู่ดีวัดบ้านยาง ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่นอีกด้วย เมื่อหลวงพ่อแก้วมรณภาพลงดังได้กล่าวมาแล้ว ทางคณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้งให้ท่านรักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาส และต่อมาก็แต่งตั้งให้ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางแขม ระหว่างที่ท่านปกครองวัดบางแขม ท่านได้จัดระเบียบการปกครองพระสงฆ์ภายในวัดอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย นอกจากนี้ท่านยังได้บูรณปฏิสังขรณ์ เช่น สร้างหอฉัน สร้างศาลาการเปรียญ สร้างโรงเรียนประชาบาล สร้างพระอุโบสถหลังใหม่แทนหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมมาก สร้างกุฎิสงฆ์  สร้างสะพานคอนกรีต
           ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อยิ้ว ทางคณะสงฆ์ จึงได้เสนอเลื่่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูอุตตรบดี ในปี พ .ศ.๒๔๙๔  พระครูอุตตรการบดี(ยิ้ว จนฺทสฺโร) มรณภาพ เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๕ รวมอายุได้ ๖๙ ปี พรรษา ๔๘


พระอุโบสถหลังเก่า สร้างในสมัยหลวงพ่อยิ้ว พ.ศ.๒๔๙๑ 
( ด้านหน้า )





พระอุโบสถหลังเก่า สร้างในสมัยหลวงพ่อยิ้ว พ.ศ.๒๔๙๑ 
( ด้านข้าง )

           สาเหตุของการสร้างพระกริ่ง และพระยอดธง
            ก่อนที่หลวงพ่อยิ้ว จะมาจำพรรษาที่วัดบางแขม พระอุโบสถหลังเดิมมีสภาพทรุดโทรมมาก และพระประธานในโบสถ์เป็นพระพุทธรูปหินทรายและมีสภาพชำรุดเช่นกัน ความเก่าและความชำรุดทรุดโทรมมากของพระอุโบสถ เกรงว่าอาดจะเกิดอุบัติเหตุแก่พระสงฆ์ในระหว่างปฎิบัติกิจทางสงฆ์ หลวงพ่อยิ้วและคณะกรรมการวัด จึงเห็นสมควรสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ พร้อมกับเท่หล่อพระประธานองค์ใหม่
           เมื่อหลวงพ่อยิ้วและคณะกรรมการวัดบางแขมตกลงจะสร้างพระเครื่อง  เพื่อสมนาคุณแก่ประชาชนที่บริจาคทรัพย์สร้างพระอุโบสถและพระประธานองค์ใหม่ จีงได้นำความไปปรึกษาพระครูวิเชียร จนฺสิริ แห่งสำนักวัดสุทัศน์ฯ ขณะนั้นท่านดำรงสมณศักดิ์เป็นพระครูธรรมคุต ท่านเห็นดีด้วยและแนะนำให้สร้างพระกริ่งและพระยอดธง ส่วนพระชัยวัฒน์ไม่ต้องสร้างท่านมีอยู่แล้ว และยินดีจะถวายให้วัดบางแขม(รายละเอียดเกี่ยวกับพระชัยวัฒน์ของพระครูวิเชียร ขอให้ท่านผู้อ่าน ไปอ่านบทความประจำเดือนเมษายน ๒๕๕๔ เรื่องพระชัยวัฒน์พระครูวิเชียร วัดสุทัศน์(วัดบางแขม) ท่านพระครูวิเชียรรับอาสาเป็นเจ้าพิธีและเป็นแม่งานในการผสมเนื้อโลหะ ตลอดจนการลงพระยันต์ ๑๐๘ และนะปถมัง ๑๔ นะ ตามสูตรการสร้างพระกริ่งของวัดสุทัศน์



พระชัยวัฒน์ พระครูวิเชียร วัดสุทัศน์ฯ( วัดบางแขม) เทหล่อที่วัดสุทัศน์ฯ ปี  พ.ศ. ๒๔๘๓
( ฉลองพระชนมายุ ๗ รอบ สมเด็จพระสังฆราช แพ ติสฺสเทว มหาเถร )



พระชัยวัฒน์ พระครูวิเชียร วัดสุทัศน์ฯ( วัดบางแขม) เทหล่อที่วัดสุทัศน์ฯ ปี  พ.ศ. ๒๔๘๓
( ฉลองพระชนมายุ ๗ รอบ สมเด็จพระสังฆราช แพ ติสฺสเทว มหาเถร )



พระชัยวัฒน์ พระครูวิเชียร วัดสุทัศน์ฯ(วัดบางแขม) เทหล่อที่วัดสุทัศน์ฯ ปี  พ.ศ. ๒๔๘๓
( ฉลองพระชนมายุ ๗ รอบ สมเด็จพระสังฆราช แพ ติสฺสเทว มหาเถร )


           ก่อนอื่นขอเท้าความประวัติพระครูวิเชียรเสียก่อน พระครูวิเชียรท่านเป็นชาวบางแขมโดยกำเนิด นามสกุล"ทับสายทอง" ท่านเป็นญาติพี่น้องกับเสือผาด ทับสายทอง ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในอดีต
          เมื่ออายุได้ ๑๔ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดสุทัศน์ฯ โดยมีสมเด็จพระสังฆราช(แพ ติสฺสเทว)เป็นพระอุปัชฌาย์ และเมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ก็อุปสมบทที่วัดสุทัศน์ฯโดยมีสมเด็จพระสังฆราช(แพ (ติสฺสเทว) เป็นพระอูปัชฌาย์ และท่านเป็นศิษย์และเป็นพระถานานุกรมของเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทว) และได้อยู่รับใช้อย่างใกล้ชิด ตลอดจนได้เรียนรู้การสร้างพระกริ่งและได้ร่วมงานในพิธีการสร้างพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ของเจ้าประคุณสมเด็จฯ นอกจากนี้ท่านเจ้าคุณวิเชียรท่านยังมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับเจ้าคุณศรีสนธิ์ ซึ่งเป็นศิษย์เอกของเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชฯ พระครูวิเชียรท่านจึงได้เรียนรู้การลงพระยันต์ ๑๐๘ และนะปถมัง ๑๔ นะตลอดจนการผสมเนื้อนวโลหะจากเจ้าคุณสนธิ์ จึงถือได้ว่าท่านเป็นศิษย์สายวัดสุทัศน์ฯโดยตรง
           เมื่อท่านเจ้าคุณวิเชียร หลวงพ่อยิ้ว และคณะกรรมการของวัดบางแขมตกลงที่จะสร้างพระกริ่ง-พระยอดธงแล้ว พระกริ่งที่สร้างจึงเป็นพระกริ่งในตัวตามแบบสายวัดสุทัศน์ฯ ส่วนแบบพิมพ์ของพระกริ่งได้ถอดพิมพ์มาจากพระกริ่งเขมรอุ้มบาตรเนื้อเงิน(น่าจะเป็นพระกรุ)ของหลวงพ่อยิ้ว ส่วนพระยอดธงก็ได้ถอดพิมพ์มาจากพระกรุเหมือนกัน



พระกริ่งอุ้มบาตร หลวงพ่อยิ้ว ปีพ.ศ. ๒๔๙๒



พระยอดธง หลวงพ่อยิ้ว ปีพ.ศ. ๒๔๙๒

          พระกริ่งอุ้มบาตรและพระยอดธงของวัดบางแขมที่สร้างขึ้นในครั้งนี้ จากคำบอกเล่าของคุณลุงไช่ฮวง แซ่โค้ว(กิ่วอ่อน) ได้กรุณาเล่าให้ผู้เขียนฟัง เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๙ ขณะนั้นท่าน อายุ ๗๗ ปีว่าการสร้างพระกริ่ง-พระยอดธงของวัดบางแขม ได้จัดพิธีพุทธาภิเษกที่วัดบางแขม และได้เทหล่อพระกริ่ง-พระยอดธง ณ บริเวณหน้าพระอุโบสถโดยนำทองชนวนที่เหลือจากเท่หล่อพระประธาน(พระอุโบสถหลังที่หลวงพ่อยิ้วได้สร้างขึ้น) เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒ โดยมีเกจิอาจารย์ที่เข้าร่วมปลุกเสกดังต่อไปนี้
           ๑.พระครูอุตตรการคดี(สุข) วัดห้วยจรเข้
           ๒.หลวงพ่อเงินวัดดอนยายหอม
           ๓.หลวงพ่อยิ้ว วัดบางแขม
           ๔.พระครูวิเชียร จนฺสิริ
         โลหะที่นำมาผสมเทหล่อพระกริ่งอุ้มบาตร-พระยอดธงของวัดบางแขมปี พ.ศ.๒๔๙๒ประกอบด้วย
           ๑.ทองชนวนที่เหลือจากเทหล่อพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ พระครูวิเชียร ปี พ.ศ.๒๔๘๓พิธีฉลองพระชนมายุครบ ๗ รอบของสมเด็จพระสังฆราช(แพ ติสฺสเทว)
           ๒.พระยันต์ ๑๐๘ และ นะปถมัง ๑๔ นะ
           ๓.แผ่นพระยันต์ของพระคณาจารย์ต่างๆ ที่เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษก
           จำนวนการสร้างของพระกริ่งอุ้มบาตรและพระยอดธง
            พระกริ่งอุ้มบาตรสร้าง จำนวนประมาณ ๕,๐๐๐ องค์ค่านิยมองค์สวยแชมป์ประมาณ ๑๕,๐๐๐บาท(หนึ่งหมื่นห้าพันบาท) ราคาทั่วไป ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
            พระยอดธงสร้างจำนวนประมาณ ๕๐๐ องค์ (พระที่เทหล่อออกมาเสียหายเป็นจำนวนมาก)
          เนื้อพระกริ่งอุ้มบาตรและพระยอดธง ออกกระแสเหลือง และคุณวิเศษของพระกริ่งและพระยอดธงเป็นเลิศทางคงกระพันชาตรีและแคล้วคลาด โดยเฉพาะเรื่องปืนและมีดชาวบางแขมยืนยันและประสบด้วยตนเอง ก่อนจะจบบทความนี้ ผู้เขียนขอกล่าวถึงพระยอดธงของพระครูสมุห์เที่ยงซึ่งเป็นศิษย์เอกของหลวงหลวงพ่อยิ้ว หลวงพ่อเที่ยงท่านได้สร้างพระยอดธง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับของหลวงยิ้ว ปี พ.ศ.๒๔๙๒ เป็นเหตุให้นักสะสมพระเครื่องส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าเป็นพระยอดธงของหลวงพ่อยิ้ว



                             พระยอดธง หลวงพ่อเที่ยง                   พระยอดธง หลวงพ่อยิ้ว 
                            ปีพ.ศ. ๒๕๑๗  ( ด้านหน้า )                 ปีพ.ศ. ๒๔๙๒ ( ด้านหน้า )


                             พระยอดธง หลวงพ่อเที่ยง                   พระยอดธง หลวงพ่อยิ้ว 
                            ปีพ.ศ. ๒๕๑๗  ( ด้านหลัง )                 ปีพ.ศ. ๒๔๙๒ ( ด้านหลัง )



           ข้อแตกต่างของพิมพ์พระยอดธงของหลวงพ่อยิ้วและหลวงพ่อเที่ยงมีดังต่ิอไปนี้(ดูรูปเปรียบเทียบ)
            ๑.พระยอดธงของหลวงพ่อเที่ยงองค์พระจะอ้วนใหญ่กว่าของหลวงพ่อยิ้วเล็กน้อง
            ๒.หูพระยอดธงของหลวงพ่อเที่ยงจะยาวและใหญ่กว่าหูพระยอดธงของหลวงพ่อยิ้ว
            ๓.ด้านหน้าขององค์พระ ผ้าสังฆฏิของพระยอดธงหลวงพ่อเที่ยงจะใหญ่กว่าหลวงพ่อยิ้ว  และด้านหลังองค์พระ  สังเกตผ้าสังฆฎิพระยอดธงของหลวงพ่อเที่ยง  ผ้าสังฆฎิจะมีรอยร่องยาวอยู่ตรงกลางผ้าสังฆฎิ  ส่วนของหลวงพ่อยิ้วจะยาวเสมอเรียบร้อย


นายสุพล  คีรีวิเชียร


 
นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร


                 ประวัติพระเครื่องเมืองนครปฐม ขอแสดงความยินดีที่ท่านสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค๕ และประธานศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เมื่อวันที่๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๘



                                                                                     ประวัติพระเครื่องเมืองนครปฐม


                  
พระพิฆเนศ เทพเจ้าแห่งความรู้และความสำเร็จทั้งมวล เป็นผู้มีปัญญาเป็นเลิศปราดเปรื่องในศิลปะวิทยาการทุกแขนง



พระพิฆเนศรุ่น สัมฤทธิคุณ ปี 2556

ด่วน ! ช้าหมดของมีจำนวนจำกัด


          สมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอเชิญบูชาพระพิฆเนศเนื้อสัมฤทธิ์
รุ่น 
สัมฤทธิคุณ รายได้ทั้งหมดมอบเป็นทุนการศึกษาของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มี 2 ขนาด
          ขนาดสูง 19 นิ้ว จำนวนสร้าง 70 องค์ ราคา 17,999 บาท ขณะนี้หมดแล้ว
          ขนาดสูง 12 นิ้ว จำนวนสร้าง 200 องค์ ราคา 7,999 บาท ขณะนี้ไม่แน่ใจยังหรือหรือไม่

          พระพิฆเนศรุ่น สัมฤทธิคุณ ได้ผ่านพิธีพุทธาภิเษกและพิธีเทวาภิเษก ณ โบสถ์พราหมณ์ ซึ่งเป็นโบสถ์พราหมณ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพราหมณ์
          สนใจติดต่อที่สมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ท่าพระจันทร์) 
          โทร 0-2623-6404, 0-2225-4142