คนนครปฐมโดยกำเนิด สำเร็จการศึกษานิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเนติบัณฑิตไทย มีความสนใจและศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพระเครื่อง ตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนอยู่ธรรมศาสตร์

วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ประวัตินายนิรันตร์ แดงวิจิตร



          นายนิรันตร์ แดงวิจิตร เดิมชื่่อ หนู เกิดเมื่อวันเสาร์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๕ ปีจอ ตรงกับวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๓ ณ ตำบลบ้านนา อ.บ้านนา จ. นครนายก บิดาชื่อ นายตุ่น มารดาชื่อนางเผื่อน มีอาชีพทำนา
          เนื่องจาก บิดามารดาเสียชีวิตตั้งแต่ยังเยาว์ หลวงลุงจ้อย(พี่ชายของพ่อ) จึงนำมาอุปการะและให้ได้รับการศึกษาจนจบชั้นประถม ๔
          นายนิรันตร์ ได้เข้ามาเป็นลูกศิษย์วัดสุทัศน์ตั้งแต่วันจันทร์ที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๓ (อายุ ๑๐ ปี) โดยการอุปถัมภ์ของพระเนื่องผู้เป็นอา กับพระครูปลัดสุวัฒนพรหมจริยคุณ(ผึ่ง)ผู้เป็นลุง ที่คณะ ๑๑ วัดสุทัศน์
          ต่อมาได้บรรพชาเป็นสามเณร พระครูปลัดผึ่งเป็นผู้บวชให้ และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดสะพาน อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก เมื่อปีพ.ศ.๒๔๗๓ แล้วจึงกลับมาอยู่วัดสุทัศน์ตามเดิม
          พระภิกษุหนู ได้มาอยู่ที่คณะ ๑๑ วัดสุทัศน์ ได้ปฏิบัติรับใช้เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช(แพ ติสฺสเทว)อย่างใกล้ชิด เป็นต้นว่า ปัดกวาดกุฏิ นวด ปลงพระเกษาฯ ตลอดมาจนสิ้นพระชนม์
          พระภิกษุหนู หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า"พระครูหนู" เป็นศิษย์ที่สนใจหาความรู้ และร่วมจัดพิธีกรรมต่างๆกับพระองค์ท่าน โดยเฉพาะในการจัดสร้างพระกริ่ง และพระชัยวัฒน์อยู่เนืองๆ ภายหลังได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูฐานานุกรมในเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ที่พระครูพิศาลสรคุณ, พระครูญาณวิสุทธิและพระครูวินัยกรณ์โสภณตามลำดับ




          เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช(แพ) สิ้นพระชนม์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๗ พระครูหนู ก็ลาสิกขาในปี พ.ศ.๒๔๘๙ และได้เข้ารับราชการในกรมศิลปากร แผนกคลัง จนครบเกษียณอายุ



ภาพนี้ถ่ายขณะรับราชการที่กรมศิลปากร


          นายนิรันตร์ แดงวิจิตร ได้สมรสกับนางสมจิตต์ แดงวิจิตร(จ๋วนสุวัฒน์) มีบุตรธิดา ๖ คน คือ
           ๑.นางอัมพร โสวัตร(เสียชีวิตแล้ว)
           ๒.น.ส.จันทนา  แดงวิจิตร
           ๓.พ.อ.อ.สมโภชน์ แดงวิจิตร
           ๔.น.ส.อุษา  แดงวิจิตร
           ๕.นายธเนศ  แดงวิจิตร
           ๖.ด.ต.แสงเพช็ร  แดงวิจิตร



ครอบครัวแดงวิจิตร



          เมื่อนายนิรันตร์ เกษียณอายุแล้ว เนื่องจากเป็นผู้มีฝีมือตบแต่งพระกริ่งเป็นเลิศ ในยามว่างคณะศิษย์หรือผู้เคารพจะมาขอความเมตตาให้แต่งพระกริ่งให้ ปลายปี พ.ศ.๒๕๒๓ ครอบครัวได้ย้ายไปอยู่บ้านฝั่งธน เมื่อวัดสุทัศน์มีงานพิธีต่างๆ เช่น พุทธาภิเษก นายนิรันตร์มักจะได้รับเชิญให้เป็นบัณฑิตในงานพิธีหล่อพระสำคัญระดับประเทศเสมอมา แต่พิธีที่นายนิรันตร์ จัดเป็นประจำทุกปี คือ งานไหว้ครูในวันเพ็ญ เดือน ๑๒ เพราะตรงกับวันประสูติของเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช(แพ)ผู้เป็นอาจารย์




          ปลายปี พ.ศ.๒๕๕๐ นายนิรันตร์ มีอาการป่วยเป็นไข้หวัด ตัวร้อนจัด มีเสมหะมาก ลูกหลานจึงรีบนำส่งโรงพยาบาลธนบุรี เมื่อแพทย์รักษาหายดีแล้ว จึงพามาอยู่บ้านหลังศาลเจ้าพ่อเสือ เพื่อสะดวกในการเดินทาง
           ต้นปี พ.ศ.๒๕๕๒ นายนิรันตร์ ได้ป่วยเป็นไข้ ตัวร้อนจัด ไม่ยอมรับประทานอาหาร ลูกหลานจึงพาส่งโรงพยาบาลธนบุรี รักษาตัวอยู่ประมาณ ๒ อาทิตย์กว่า ก็พากลับบ้าน แต่อาการป่วยครั้งนี้ทำให้นายนิรันตร์ ไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ตามปกติ จึงต้องให้อาหารทางสายยาง และมีพยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิดเพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
          ตอนสายของวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๓ นายนิรันตร์ มีอาการหายใจหอบเหนื่อย ท้องบวม ปัสสาวะไม่ออก ลูกหลานจึงพาส่งโรงพยาบาลธนบุรี แพทย์ได้ตรวจพบว่ามีน้ำในเยื่อหุ้มปอดจึงดูดออก ๔๕๐ ซีซี นอนพักรักษาตัวอยู่ประมาณ ๖ วัน อาการเกิดทรุดหนัก แพทย์และพยาบาลได้ช่วยกันทำการรักษาอย่างเต็มที่แล้ว นายนิรันตร์ ได้สิ้นใจอย่างสงบเมื่อเย็นวันอาทิตย์ที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๓ เวลา ๑๘.๐๖ น. ยังความโศกเศร้าเสียใจมาสู่ลูกหลาน ญาติมิตร ลูกศิษย์ทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง สิริรวมอายุได้ ๑๐๐ ปี ๕ เดือน ๓ วัน
          ขออำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายพร้อมทั้งคุณความดี และผลบุญกุศลที่นายนิรันตร์ แดงวิจิตร ได้สร้างสมมาตลอดชีวิต จงเป็นพลังปัจจัย น้อมนำดวงวิญญาณของท่านไปสู่สุคติในสัมปรายภพ ด้วยเทอญ


จันทนา  แดงวิจิตร




          บทความต่อไปนี้ จะกล่าวถึงประวัติของคุณนิรันตร์  แดงวิจิตรตามประสบการณ์ของผู้เขียนที่ได้รู้จักท่านมานานหลายสิบปี ท่านเป็นบุคคลที่ในวงการพระกริ่ง โดยเฉพาะวงการพระกริ่งสายวัดสุทัศน์ฯ รู้จักท่านเป็นอย่างดี ผู้เขียนก็เป็นผู้หนึ่งที่สนใจพระกริ่ง พระชัยวัฒน์สายวัดสุทัศน์ ผู้เขียนได้รู้จักคุณนิรันตร์ แดงวิจิตรเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๒๑ ซึ่งผู้เขียนให้ความเคารพนับถือท่านมาก และเรียกขานท่านว่า"อาจารย์"หรือ"อาจารย์หนู" และชื่ออาจารย์หนูนี้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปของบรรดาลูกศิษย์หรือบุคคลที่เคารพนับถือท่าน
          วันแรกที่ผู้เขียนรู้จักอาจารย์หนู โดยการชักชวนของคุณปรีชา ศรีวิญญนนท์หรือที่ชาวบ้านเรียกขานท่านว่า"เฮียย้ง"(เฮียย้งหรือเป็งย้ง คือผู้สร้างพระกริ่งหลวงปู่โต๊ะ รุ่นเป็งย้ง) โดยวันนั้นเฮียย้งจะไปหาอาจารย์หนูที่วัดสุทัศน์ฯ และผู้เขียนก็ได้ติดตามร่วมเดินทางกับเฮียย้ง โดยอาศัยรถเมล์ประจำทางสาย ๕๓ ขึ้นรถเมล์ที่ป้ายรถเมล์ ตลาดพระท่าพระจันทร์ อาจารย์หนูท่านอาศัยอยู่ที่ศาลาการเปรียญพระเสฏฐมุนี วัดสุทัศน์ฯ วันแรกที่ผู้เขียนได้พบอาจารย์หนู(ขณะนั้นท่านเป็นฆราวาส) ท่านได้ถามผู้เขียนว่าทำงานอะไร ผู้เขียนตอบว่ายังไม่ได้ทำงานยังเรียนหนังสืออยู่ เรียนที่ธรรมศาสตร์  คณะนิติศาสตร์ หลังจากนั้นมาผู้เขียนก็เริ่มสนใจในพระกริ่งสายวัดสุทัศน์ฯ
          ต่อจากนั้นอีกไม่นาน ผู้เขียนก็มีโอกาสได้พบกับอาจารย์หนูอีกครัง้หนึ่่ง ก็โดยการชักชวนของเฮียย้งโดยอ้างว่าจะไปช่วยทำความสะอาดศาลาการเปรียญที่อาจารย์หนูพักอาศัยอยู่ เพื่อจัดงานฉลองและทำบุญคล้ายวันเกิดคุณยายซึ่งเป็นแม่ยายอาจารย์หนู ผู้เขียนขอร่วมติดตามไปช่วยทำความสะอาด ระหว่างที่ทำความสะอาด ผู้เขียนเหลือบไปเห็นเศษพระหักที่บรรจุในโถแก้วมีฝาปิดสนิท เศษพระหักเท่าที่เห็นมีเศษพระวัดสามปลื้ม และมีอยู่องค์หนึ่งที่สมบูรณ์ไม่หักคือสมเด็จปิลันทน์พิมพ์ปรกโพธิ์เล็กและพระอื่นๆอีกหลายชิ้น ด้วยความที่ผู้เขียนอยากได้ หลังจากทำความสะอาดเสร็จแล้ว ผู้เขียนได้ถามเฮียย้งว่า เศษพระหักอาจารย์หนูท่านหวงไหม เฮียย้งตอบว่าอย่าไปถาม อย่าไปขอ เพราะอาจารย์จะบดทำเป็นผงพุทธคุณ ๑๐๘เพื่อบรรจุพระกริ่ง บังเอิญท่านอาจารย์หนูได้ยิน ท่านจึงเอยขึ้นว่าอยากได้หรือ ผู้เขียนก็ตอบรับ ท่านหยิบเศษพระหักวัดสามปลื้มให้ ๒  ชิ้น ท่อนบนและท่อนล่างส่งให้กับผู้เขียนเพื่อต่อเป็นองค์เดียวกัน  เฮียย้งก็ถือโอกาสขอพระสมเด็จปิลันทน์พิมพ์ปรกโพธิ์เล็กองค์ที่อยู่ในโถนั้น อาจารย์หนูก็หยิบพระสมเด็จปิลันทน์พิมพ์ปรกโพธิ์ส่งให้เฮียย้ง  หลังจากนั้นอาจารย์หนูเดินไปไขกุญแจตู้ลิ้นชักหยิบสมเด็จปิลันทน์พิมพ์เปลวเพลิงเล็กและสมเด็จไพ่ตองพิมพ์สองหน้าหลวงพ่อพริ้ง วัดบางมะกอก ส่งให้ผู้เขียน พร้อบกับกล่าวกำชับว่าพระสมเด็จหลวงพ่อพริ้ง อาจารย์หนูท่านรับจากมือหลวงพ่อพริ้งโดยตรง วันนั้นผู้เขียนยอมรับว่ามีความสุขมาก เพราะได้รับพระจากอาจารย์หนู



สมเด็จปิรันทน์ พิมพ์เปลวเพลิงเล็ก
องค์นี้ผู้เขียนได้รับจากอาารย์หนู


          วันรุ่งขึ้นข่าวการได้รับพระจากอาจารย์หนูของผู้เขียน ก็แพร่สะพัดในตลาดพระท่าพระจันทร์ คุณชายอภิเดช อาภากร(ม.ร.ว.) ซึ่งผู้เขียนให้ความเคารพท่านและเรียกท่านว่า พี่หม่อม ได้มาแจ้งความจำนงต่อผู้เขียนว่า อยากได้พระสมเด็จหลวงพ่อพริ้งพิมพ์ไพ่ตองสองหน้าที่อาจารย์หนูให้ผู้เขียน โดยอ้างเหตุผลว่า หลวงพ่อพริ้งเป็นพระอุปัชฌาย์พระบิดาของท่าน เราสองคนตกลงแลกเปลี่ยนพระกัน โดยพี่หมอมเอาเหรียญหล่อรุ่นแรกหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก แลกกับสมเด็จไพ่ตองหลวงพ่อพริ่ง(พระทั้งสององค์นี้ ราคาขณะนั้นประมาณองค์ละพันกว่าบาท) ส่วนสมเด็จปิลันทน์นั้นผู้เขียนได้เลี่ยมทองแขวนอยู่ทุกวันนี้
          ประมาณปลายปี พ.ศ.๒๕๒๓ อาจารย์หนูท่านก็ย้ายจากศาลาการเปรียญ มาอาศัยอยู่ที่บ้านสวนฝั่งธนบุรี ในซอยพาณิชย์ธนฯ บ้านของท่านเป็นบ้านหลังเดี่ยวติดอยู่กับวัดตะโน แต่มีร่องน้ำขวางกั้น เมื่อจะเข้าบ้านจะต้องเดินข้ามสะพานเล็กแค่คนเดินรถยนต์ขึ้นผ่านไม่ได้ และเป็นเวลาเดียวกันที่ผู้เขียนสำเร็จการศึกษาเป็นเนติบัณฑิตไทย และประกอบอาชีพทนายความเต็มตัว



อาจารย์หนูส่องดูพระกริ่งที่แต่ง



อาจารย์หนูกำลังตบแต่งพระกริ่ง


          เมื่อท่านอาจารย์หนูมาอาศัยอยู่ที่บ้านสวน ผู้เขียนก็ไปมาหาสู่ที่บ้านสวนอย่างน้อยอาทิตย์ละ สองถึงสามครั้ง ทุกครั้งที่พบท่าน ท่านจะใส่กางเกงขาสั้นเป็นผ้าดิบสีดำ(กางเกงขาก๊วยขาสั้น) และมีผ้าขาวม้าเป็นผ้าดิบลายตารางมัดคาดเอว  ส่วนบนของร่างกายไม่สวมเสื้อ  นั่งแต่งพระด้วยท่าขัดสมาธิ แขกที่มาหาอาจารย์ไม่ว่าใครจะมาก่อนมาหลัง ก็จะนั่งเป็นกลุ่มวงเดียวกันเพราะส่วนใหญ่จะคุยเรื่องเดียวกัน ก็คือคุยเกี่ยวกับพระกริ่งวัดสุทัศน์ฯ ส่วนผู้เขียนจัดได้ว่าเด็กที่สุดในขณะนั้น ก็จะทำหน้าที่ชงน้ำชาเสิร์พบริการ (อาจารย์หนูท่านจะมีถ้วยแก้วใบใหญ่ใส่น้ำชาต่างหาก จะใช้ในเวลาท่านอยู่ตามลำพัง)
          บางโอกาสที่ผู้เขียนได้อยู่กับท่านตามลำพัง ท่านจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับพระกริ่งวัดสุทัศน์ฯให้ฟังเสมอ ท่านเล่าว่าพระกริ่งวัดสุทัศน์ฯ ท่านรู้เรื่องดีตั้งแต่พระกริ่ง ๗๙ลงมาเพราะท่านอยู่ในเหตูการณ์ ส่วนพระกริ่งที่สร้างก่อนหน้านั้น ท่านไม่ทราบเพราะท่านไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ และท่านยังเด็กอยู่  ส่วนพระกริ่งยุคก่อนพระกริ่ง ๗๙ บางรุ่นที่ท่านทราบก็อาศัยคำบอกเล่าของเจ้าประคุณสมเด็จฯหรือผู้ใหญ่เล่าให้ฟัง ระหว่างที่ท่านเล่าให้ผู้เขียนฟัง ผู้เขียนก็ทำหน้าที่ บีบนวด ขา น่อง  เอว  หลัง  บ่า  คอ จนอาจารย์หนูท่านรู้สึกสบายคลายความเมื่อยล้า



พระครูพิศาลสรคุณ (หนู)


          มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผู้เขียนกำลังบีบนวดอาจารย์หนู ท่านได้เล่าถึงพระกริ่งวัดช้างที่ท่านได้สร้างเพื่อสมนาคุณแด่ท่านผู้บริจาคทรัพย์สร้างโรงเรียนวัดช้าง อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ว่า ในปี พ.ศ.๒๔๘๔ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านได้จัดพิธีเทหล่อพระกริ่งเหมือนเช่นทุกปีที่ได้กระทำมา และปีนี้ก็เช่นกันท่านได้เทหล่อพระกริ่งมีพระนามว่า"พระกริ่งพุทธนิมิต" และในโอกาสนั้นอาจารย์หนูท่านยังครองสมณเพศเป็นพระภิกษุ มีสมณสักดิ์เป็นพระครูพิศาลสรคุณ ตำแหน่งพระถานานุกรมในสมเด็จพระสังฆราช(แพ) ท่านได้ขออนุญาตสร้างพระกริ่งพระชัยวัฒน์ฯ เพื่อสมนาคุณแด่ท่านที่บริจาคทรัพย์ สร้างโรงเรียนวัดช้าง และเจ้าประคุณสมเด็จฯก็อนุญาตให้จัดสร้างได้ตามที่ขอ โดยเทหล่อพระในพิธีเดียวกัน อาจารย์หนูท่านสนิทสนมกับเจ้าคุณสนธิ์ ดังนั้นการสร้างพระกริ่ง พระชัยวัฒน์ฯของอาจารย์หนูครั้งนี้ เจ้าคุณสนธิ์จึงเป็นแม่งานทำหน้าที่ผสมเนื้อ และลงพระยันต์ ๑๐๘ และ นะปถมัง ๑๔ นะ พระกริ่งของอาจารย์หนูทองชนวนคนละเบ้ากับของเจ้าประคุณสมเด็จฯและรูปพิมพ์พระกริ่งต่างกัน พระกริ่งของอาจารย์หนูเทหล่อเป็นพระกริ่งก้นตัน มิไช่กริ่งในตัว จึงต้องคว้านก้นเพื่อบรรจุเม็ดกริ่ง และก่อนจะบรรจุเม็ดกริ่ง ท่านอาจารย์หนูจะบรรจุผงพุทธคุณ ๑๐๘ และพระเกษาของเจ้าประคุณสมเด็จฯ เนื้อพระกริ่งเดิมทีอาจารย์หนูตั้งใจจะเทให้เนื้อออกกระแสแดงเป็นเนื้อนวโลหะกลับดำ แต่เพราะความที่ท่านอยากได้เนื้อชนวนของเจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงบอกให้ช่างหล่อพระกริ่งเท่ทองชนวนพระกริ่งของเจ้าประคุณสมเด็จฯที่เหลือจากการเท่หล่อพระกริ่งพุทธนิมิต ลงผสมในเบ้าพระกริ่งของอาจารย์หนู จึงเป็นเหตูให้พระกริ่งและพระชัยฯวัดช้างเนื้อออกแดงอมเหลือง(เบ้าทองชนวนของพระกริ่งพุทธนิมิตออกกระแสเหลือง) เนื้อพระกริ่งวัดช้างจึงไม่กลับดำสนิท ระหว่างที่ท่านอาจารย์หนูกำลังเล่าเหตุการณ์ในอดีต ผู้เขียนได้เรียนถามขัดจังหวะว่า"ทำไมท่านเจ้าประคุณสมเด็จ จึงไม่นิมนต์พระเกจิอาจารย์ดังๆในสมัยนั้นร่วมพิธีพุทธาภิเษกพระกิ่งวัดสุทัศน์"ท่านอาจารย์หนูตอบว่า"เจ้าประคุณสมเด็จ ท่านทำของท่านได้ท่านไม่ต้องอาศัยคนอื่น มีแต่คนอื่นต้องอาศัยท่านทำพระกริ่งให้ พระที่ร่วมพิธีส่วนใหญ่จะเป็นพระในวัดสุทัศน์ที่เป็นลูกศิษย์หรือศิษย์ผู้น้องของท่าน ส่วนพระนอกวัดก็มีท่านเจ้าคุณนาค วัดอรุณฯฝั่งธนบุรีซึ่งเป็นศิษย์ผู้น้องของท่าน" 





          พระกริ่งรุ่นวัดช้าง เป็นพระกริ่งที่มีขนาดเล็กกว่าพระกริ่งพุทธนิมิตร หล่อในงานพิธีเดียวกันกับพิธีพระกริ่งพุทธนิมิต แต่แยกทองคนละเบ้า เจตนานำไปแจกเพื่อสมนาคุณผู้ที่ ออกทุนทรัพย์สร้างโรงเรียนที่วัดช้าง อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก พระกริ่งองค์นี้ได้รับการตบแต่งจากอาจารย์นิรันตร์ แดงวิจิตร ตบแต่งใต้ฐานเป็นก้นถ้วย




          การไปมาหาสู่ของผู้เขียนกับอาจารย์หนูที่บ้านสวน ทำให้ความซึมซับความคิดความศรัทธาในพระกริ่งวัดสุทัศน์ฯ อยู่เต็มสมองของผู้เขียน ความอยากได้ในพระกริ่งรุ่น ๗๙ หรือพระกริ่งพรหมมุนี จนลืมความอยากได้ในสมเด็จวัดระฆังและสมเด็จวัดปากน้ำ ลืมเสียสนิททั้งๆที่สมเด็จวัดระฆังและสมเด็จวัดปากน้ำกำลังเป็นที่นิยมมากในขณะนั้น(กระแสแรงมาก)  และในที่สุด ผู้เขียนก็สมความปรารถนา ได้พระกริ่งรุ่น ๗๙ องค์สวยแชมป์มาครอบครอง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ โดยซื้อจากคุณสมพร ทันตเวช (พี่เล็ก รูปหล่อ)  ในราคา ๔๕,๐๐๐บาท(สี่หมื่นห้าพันบาท)ผู้เขียนดีใจมากได้สั่งทำตลับทองใส่พระกริ่งรุ่น ๗๙บูชาติดตัวตลอดมา และต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๐พระกริ่งองค์นี้ได้ขายคืนให้พี่เล็ก รูปหล่อพร้อมทั้งตลับทอง ในราคา ๒๐๐,๐๐๐บาท(สองแสนบาท) พระกริ่ง ๗๙ องค์นี้ เป็นพระกริ่งองค์ประวัติศาสตร์ที่พี่เล็กได้กล่าวถึงและได้มีการบรรทึกประวัติพระกริ่งองค์นี้ไว้ในหนังสือพระเครื่อง



พระกริ่ง ๗๙ องค์ประวัติศาสตร์


          นอกจากนี้ผู้เขียนได้สังเกตุการปฏิบัติตนของอาจารย์หนู น่าจะอยู่ในลักษณะของการถือศีล ๕ อย่างเคร่งครัด ท่านจะไม่พูดเท็จในเรื่องใดๆ ท่านดูน่าเกร่งขาม แต่ความจริงแล้วท่านเป็นคนใจดีมีเมตตา เป็นคนขยัน ซื่อสัตย์สุจริต และอดทนและส่วนดีของท่านอีกประการหนึ่งคือ การรู้ค่าของเงิน การใช้จ่ายจึงเป็นไปด้วยความระมัดระวัง ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ผู้เขียนได้ปฏิบัติตาม (ความไม่ประมาทในชีวิต)
          ท่านอาจารย์หนูมีความเชื่อว่าการสร้างพระเป็นการสืบทอดพระศาสนา ดังนั้นในชีวิตของท่านตั้งแต่บวชเป็นพระภิกษุจนกระทั่งท่านลาสิกขา ท่านจะเทหล่อพระทุกครั้งที่มีโอกาสจนตลอดชีวิตของท่าน



พระกริ่งองค์นี้ได้รับการตบแต่งจากอาจารย์หนู


พระกริ่งทองทิพย์ เนื้อนวโลหะกลับดำ ปีพ.ศ.๒๔๙๕ 
พระกริ่งองค์นี้ได้รับการตบแต่งจากอาจารย์หนู


พระกริ่งทองทิพย์ รุ่นบ้านสร้าง บรรจุกริ่งในตัว ปีพ.ศ.๒๔๙๕
พระกริ่งองค์นี้ได้รับการตบแต่งจากอาจารย์หนู


พระกริ่งทองทิพย์ รุ่นอาจารย์ฮั้ว ปีพ.ศ. ๒๔๙๕
พระกริ่งองค์นี้ได้รับการตบแต่งจากอาจารย์หนู

          อาจารย์หนูนอกจากท่านจะเป็นเจ้าตำรับปรมาจารย์พระกริ่งวัดสุทัศน์ฯแล้ว ฝีมือการตบแต่งพระกริ่งของท่าน ท่านเป็นหนึ่งจริงๆ เรียกได้ว่าในยุค พ.ศ.๒๕๐๐ ลงมาไม่มีใครเทียบท่าน ผู้เขียนเคยเห็นท่านตบแต่งพระกริ่งองค์ที่ชำรุด บางองค์คอเอียง จมูกแบน ปากไม่ติด ท่านตบแต่งไม่เกิน ๑๐นาทีคอหายเอียง จมูกโด่ง ปากติดเต็มเป็นรูปกระจับ ดูสวยงามมาก เรียกได้ว่า ฝีมือชั้นเทพ นอกจากการตบแต่งพระกริ่งแล้ว ท่านยังมีความรู้ในการจัดพิธีเทหล่อพระกริ่ง ทุกครั้งที่มีการจัดพิธีเทหล่อพระกริ่งที่วัดสุทัศน์ฯ ท่านจะได้รับเชิญให้ร่วมเป็นบัณฑิตเสมอ
          ปี พ.ศ.๒๕๓๑ ผู้เขียนได้ลงมาจากสุโขทัย และได้ไปเยี่ยมอาจารย์หนูที่บ้านสวนพร้อมกับนำข้าวตอกพระร่วงของจังหวัดสุโขทัย(หนึ่งกระป๋องนมตราหมี)ไปมอบให้ท่าน เพื่อเทหล่อพระกริ่ง โดยอาจารย์หนูท่านบอกว่า "แร่ในข้าวตอกพระร่วงมีคุณวิเศษทางคงกระพันชาตรี" และในวันนั้นได้พูดคุยกันหลายเรื่อง  มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ท่านสั่งกำชับผู้เขียนว่า" สุพลต่อไปอย่าขายพระ ไม่ดี" ด้วยคำพูดประโยคนี้เป็นเหตุให้ผู้เขียนไม่กล้าจะเปิดศูนย์ในลักษณะเป็นอาชีพ นอกจากจะซื้อขายพระเล็กๆน้อยๆสนุกไปวันๆ
         ด้วยคุณงามความดีและบุญกุศลที่ท่านอาจารย์หนูได้ก่อไว้ ขอได้โปรดดลบันดาลให้ดวงวิญญาณอันบริสุทธิ์ของท่านไปสู่สรวงสวรรค์เทอญ












                                                                                                         สุพล คีรีวิเชียร
                                                                                                           081-0434114
                                                              
                  
                     
          พลายกระเด็น หรือ งากระเด็น หรือ งากำจัด หมายถึง งาช้าง(งายาว) ของช้างพลาย(ช้างเพศผู้) ที่หักติดกับต้นไม้อันเนื่องจากช้างนั้นตกมัน วิ่งชนต้นไม้ หรือ เกิดจากการที่ช้างต่อสู้กัน จึงเป็นของ วิเศษโดยธรรมชาตฺิเมื่อผ่านการปลุกเสกยิ่งมีอิทธิฤทธิ์เป็นทวีคูณ(หายาก)
          พังกระเด็น หมายถึง เขี้ยวหรืองาขนาย(งาสั้น) ของช้างพัง(ช้างเพศเมีย) ที่หักติดกับต้นไม้ อันเนื่องจากช้างพังนั้นตกมัน วิ่งชนต้นไม้เป็นของวิศษโดยธรรมชาติมีอิทธฺิฤทธิ์เหนือกว่าพลายกระเด็น เมื่อผ่านการปลุกเศษจะมีอิทธิฤทธิ์เป็นทวีคูณ (หายากกว่าพลายกระเด็น)






          เสือที่ลงในภาพนี้เป็นเสือที่แกะจากเขี้ยวช้างพังที่หักติดกับต้นไม้(ช้างเพศเมีย)ที่เรียกว่าพังกระเด็น และเขี้ยวช้างอันนี้เดิมทีเป็นของเจ้าคุณสนธ์ วัดสุทัศน์ฯ  เมื่อเจ้าคุณสนธ์มรณภาพจึงตกเป็นของคุณนิรันตร์ แดงวิจิตร(อ.หนู) ต่อมาคุณนิรันตร์ได้นำเขี้ยวช้างพังชิ้นนี้มาแกะเป็นแม่พิมพ์พระปิดตาผง เพื่อทำพระปิดตาแจกเป็นที่ระลึกในงานฉลองอายุครบ ๘๔ ปี ของพระญาณโพธิ(เข็ม) วัดสุทัศน์ฯ เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๒๘ ส่วนที่เหลือจากทำแม่พิมพ์พระปิดตา จึงนำมาแกะเป็นเสือที่ปรากฎในภาพ (ฐานกว้าง ๑ ซม. หนา ๐.๘ ซม. สูง ๒.๑ ซม.)



นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร


                 ประวัติพระเครื่องเมืองนครปฐม ขอแสดงความยินดีที่ท่านสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค๕ และประธานศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เมื่อวันที่๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๘



                                                                                     ประวัติพระเครื่องเมืองนครปฐม

                       
                       
                       
                                      





























































ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น