คนนครปฐมโดยกำเนิด สำเร็จการศึกษานิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเนติบัณฑิตไทย มีความสนใจและศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพระเครื่อง ตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนอยู่ธรรมศาสตร์

วันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555

ประวัตินายวิรุฬห์ คงทอง


อาจารย์วิรุฬห์  คงทอง


             นายวิรุฬห์ คงทอง นามเดิมว่า"หิ้น" เกิดเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๔๗๑ เป็นชาวม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลาโดยกำเนิด บิดาชื่อนายเจ็ก สัญชาติไทย มารดาชื่อนางเลื่อน สัญชาติไทย เมื่อเยาว์วัยมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาและเชื่อมั่นในพระพุทธคุณ เมื่ออายุครบบวชได้บรรพชาเป็นพระภิกษุและจำพรรษาที่วัดประยูรฯ กรุงเทพมหานคร
            ระหว่างที่ท่านบวชเป็นพระภิกษุ ท่านได้สนใจศึกษาค้นคว้าพระเครื่องของสำนักวัดต่างๆ วัดที่มีชื่อเสียง เช่น พระสมเด็จวัดระฆัง พระสมเด็จบางขุนพรหม พระรอดลำพูน พระซุ้มกอ กำแพงเพชร พระผงสุพรรณ พระนางพญา พิษณุโลก พระหูยานลพบุรี ฯลฯ จนมีความเชี่ยวชาญท่านหนึ่งในขณะนั้น นอกจากท่านจะศึกษาพระกรุแล้ว พระเกจิอาจารย์ดังๆ ท่านก็ได้ศึกษามาอย่างมากมาย เช่นพระกริ่งพระชัยฯวัดสุทัศน์ฯ ไม่ว่าจะเป็นของเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช(แพ)หรือเจ้าคุณศรีสนธิ์ พระชัยวัฒสามเหลี่ยมวัดราชบพิธ ปี พ.ศ.๒๔๖๖พระเมฆสิทธิ์ของพระวินัยมุนี(แปลก) วัดราชบพิธ พระกริ่งไพรีพินาศ วัดบวรนิเวศวิหาร พระกริ่งเจ้าคุณเจีย วัดพระเชตุพนฯ พระกริ่งอรหัง วัดราชาธิราช และวัดอื่นๆอีกมากมาย ดังนั้นนักเขียนบทความเกี่ยวกับพระเครื่องในช่วงปี พ.ศ.๒๕๑๖-๒๕๓๒ มักจะมาขอข้อมูลจากท่าน
           อาจารย์วิรุฬห์ คงทอง ท่านเป็นนักสะสมพระเครื่องยุคสมัยเดียวกับพระอาจารย์ไสว สฺมโนหรืออาจารย์ไสว วัดราชฯ อาจารย์วิรุฬห์ ท่านมีความสนิทสนมและให้ความเคารพนับถืออาจารย์ไสวมาก(คุณวิรุฬห์อ่อนกว่าอาจารย์ไสวหลายปี) ต่อมาอาจารย์วิรุฬห์ก็ลาสิกขาจากการเป็นพระภิกษุ เนื่องจากความเจ็บป่วย(โรคกระเพาะ) ท่านก็ประกอบอาชีพให้เช่าพระและเช่าพระเครื่องพระบูชาต่าง ๆ แผลงพระของอาจารย์วิรุฬห์ตั้งอยู่ในตลาดพระท่าพระจันทร์ แผลงพระของท่านตั้งอยู่ด้านหลังตลาดแผลงแรกตรงปากทางเข้าติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา(ด้านที่มีร้านอาหารตั้งเรียงราย) ก่อนอื่นผู้เขียนขอเท้าความถึงสภาพตลาดในเวลานั้น(ประมานปี พ.ศ.๒๕๑๖-๒๕๓๓) แผลงพระจะเรียงรายเป็นแถวแบบงานประกวดพระ เมื่ออากาศร้อนก็จะอาศัยพัดลมช่วยปัดเป่าคลายความร้อน ไม่มีการติดตั้งแอร์เป็นห้องกระจกแบบปัจจุบันนี้ ตลาดเริ่มเปิดประมาณ ๑๐.๐๐น. และจะเริ่มมีคนคึกคักประมาณ๑๑.๐๐-๑๓.๐๐น.หลังจากนั้นคนก็จะเริ่มน้อยลงเบาลงและตลาดเลิกประมาณเวลาประมาณ๑๗.๐๐น. และวันที่มีคนมามากที่สุดคือวันเสาร์และวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุด โดยเฉพาะวันอาทิตย์จะมีคนมามากที่สุด
          ผู้เขียนรู้จักกับคุณวิรุฬห์ คงทอง ประมาณปี พ.ศ.๒๕๑๘ แต่มาสนิทสนมปีพ.ศ.๒๕๒๒ คุณวิรุฬห์ คงทองหรือที่นักสะสมพระเครื่องเรียกขานท่านว่าอาจารย์ หรือมหา(ถ้านักสะสมพระเครื่องรุ่นใหญ่อายุใกล้เคียงกับท่านก็จะเรียกท่านว่า"มหา"เพราะท่านเคยบวชเป็นพระแต่ไม่ได้เปรียญ) ส่วนผู้เขียนเด็กกว่าท่านมากจึงเรียกขานท่านว่า"อาจารย์" อาจารย์วิรุฬห์ท่านเป็นคนตรง วิพากวิจารณ์พระเครื่องอย่างตรงไปตรงมาไม่มีนัยยะซ่อนเร้นหรือผลประโยชน์ซับซ้อน ถ้าเป็นพระเก๊ ท่านก็บอกว่าเก๊ ถ้าเป็นพระแท้ท่านก็บอกว่าแท้ เหตุผลเพราะท่านกลัวบาป ความตรงไปตรงมาของท่านจึงทำให้อาจารย์วิรุฬห์มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่ยอมรับในยุคนั้น จะสังเกตุเห็นเซียนพระไม่ว่าจะเป็นเซียนเล็กหรือเซียนใหญ่ จะวนเวียนมาที่แผลงพระของท่านเสมอ นอกจากจะนำพระเครื่องมาให้ท่านตรวจสอบว่าเก๊หรือแท้แล้ว ถ้าเป็นนักเขียนก็จะขอข้อมูลประวัติพระเครื่องของวัดต่างๆ
           ในเวลานั้นผู้เขียนกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อมีเวลาว่างผู้เขียนมักจะไปนั่งที่แผลงอาจารย์เสมอ ในช่วงเวลาประมาณ ๑๔.๐๐-๑๖.๐๐น. ทุกครั้งที่ผู้เขียนไปนั่งคุยกับอาจารย์ท่านจะดีใจเหมือนมีเพื่อนมานั่งคุย อาจารย์วิรุฬห์ท่านจะสั่งน้ำส้มใบเล่หรือไม่ก็น้ำส้มกรีนสปอร์ตให้ผู้เขียนดื่มเสมอ เรื่องที่คุยกันส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระเครื่อง ประวัติของพระเครี่อง เรื่องพุทธคุณ ประสบการณ์ของพระเครื่อง ก็มีบางครั้งได้พูดคุยถึงการไปเที่ยวหญิงขายบริการตามประสาคนโสดไม่มีครอบครัว(ขณะนั้นผู้เขียนยังไม่มีครอบครัว) มีอยู่ครั้งหนึ่งผู้เขียนได้ถามเชิงกระเซ้าเย้าแย่อาจารย์วิรุฬห์ว่า"อาจารย์ไปเที่ยวผู้หญิงขายบริการไม่บาปหรือ ไม่ผิดศิลข้อประพฤติผิดในกามหรือ" อาจารย์ท่านตอบด้วยอารมณ์ดีว่า"ไม่บาป ไม่ผิดศิลข้อประพฤติผิดในกาม เพราะผมเอาเงินซื้อ เขาสมยอม มิใช่ผมหลอกลวงเขา"
          ความสนิมสนมทำให้อาจารย์เล่าประวัติของท่านให้ผู้เขียนฟังว่าท่านเริ่มสนใจพระเครื่องตั้งแต่รุ่นหนุ่มกระทงจนกระทั่งบวชก็ยังศึกษาสนใจและสะสมพระเครื่องมาตลอดชีวิต เพราะท่านมีความเชื่อในพระพุทธคุณของพระเครื่องดังได้กล่าวมาแล้ว นอกจากนี้อาจารย์วิรุฬห์ยังได้กล่าวเสริมอีกว่า"แม้แต่พระเกจิอาจารย์ชื่อดังในอดีตอย่างเช่น ท่านหลวงพ่อโอภาสีหรือมหาชวนท่านก็เป็นนักสะสมพระเครื่องตัวยง(เซียนใหญ่) ทำให้ผู้เขียนเกิดข้อสงสัยว่าการซื้อขายพระบาปหรือไม่ จึงได้ตั้งคำถามนี้ถามอาจารย์วิรุฬห์ ท่านตอบติดตลกว่า"ไม่บาปเป็นการเผยแผ่พระศาสนา ในเมื่อผู้ชื้อมีความศรัทธามากกว่าเราให้ราคาสูงก็ควรจำหน่ายให้เขาไปบูชาต่อ"(ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของท่านผู้อ่าน) นอกจากนี้ท่านยังได้เล่าให้ผู้เขียนฟังอีกว่า ในชีวิตของท่านได้สัมผัสเป็นเจ้าของพระเครื่องดังๆหลายวัดเช่น พระสมเด็จวัดระฆัง พระสมเด็จกรุบางขุนพรหม พระรอดลำพูนพระซุ้มกอกรุกำแพงเพชร พระผงสุพรรณ พระนางพญา พิษณุโลก พระหูยานลพบุรี พระกริ่งพรหมมุนี พระกริ่ง ๗๙ วัดสุทัศน์ฯและวัดอื่นๆอีกมากมาย ท่านศรัทธานับถือพระกริ่งสายวัดสุทัศน์ฯหลังจากที่ท่านได้ศึกษาประวัติกรรมวิธีการสร้างพระกริ่งวัดสุทัศน์ฯ โดยเฉพาะเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช(แพ)อาจารย์วิรุฬห์เคารพนับถือเป็นที่สุด และพระเครื่องที่ท่านหวงแหนมากที่สุดได้แก่พระกริ่งสวนเต่ารัชกาลที่ ๕ และรองลงมาพระกริ่ง ๘๓(พระกริ่ง ๘๓ องค์นี้สวยมากประกวดติดรางวัลที่ ๑ เป็นแชมป์ในอดีตตลอดกาล)






พระกริ่งสวนเต่า รัชกาลที่ 5 จักรพรรดิแห่งพระเครื่อง หนึ่งในพระกริ่งเบญจภาคี
พระกริ่งสวนเต่าองค์นี้มีประวัติแน่นอน คือ เดิมเป็นของคุณหลวงสะอาด ต่อมาได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของคุณวิรุฬห์ คงทอง โดยคุณวิรุฬห์ เอาเหรียญเงินหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง เลี่ยมทองพร้อมกับเงิน 500 บาทแลกมา(พระกริ่งสวนเต่าองค์นี้ คุณวิรุฬห์ คงทอง หวงแหนมากที่สุด)พระกริ่งสวนเต่าองค์นี้เคยประกวดติดรางวัลที่ 2 องค์แต่องค์ที่ติดรางวัลที่ 1 เป็นพระเก๊เพราะเป็นพระคนละพิมพ์





พระกริ่ง 83 สมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศน์ฯ หนึ่งในพระกริ่งเบญจภาคี
พระกริ่ง 83 องค์นี้มีประวัติแน่นอน เดิมเป็นของเจ้าคุณศรี ( สนธิ์ ) ได้บรรจุไว้ในพระบูชา ต่อมาเจ้าคุณศรี ( สนธิ์ ) มรณภาพพระจึงตกแก่คุณนิรันตร์ แดงวิจิตรในฐานะผู้จัดการมรดก ต่อมาคุณนิรันตร์ได้คืนให้หลวงพี่สังวาลย์ หลานเจ้าคุณศรี ( สนธิ์ ) ในฐานะทายาท ต่อมาได้จำหน่ายให้คุณวิรุฬห์ คงทองในราคา 720 บาท(แชมป์ประเทศไทย)




          ต่อมาประมาณปี พ.ศ.๒๕๒๗ ผู้เขียนอยากได้พระกริ่งสวนเต่ารัชกาลที่ ๕ ก็ได้มีเซียนใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งผู้เขียนรู้จักแต่ไม่สนิทนัก(ไม่เคยซื้อขายพระกันมาก่อน) ได้เสนอขายพระกริ่งสวนเต่ารัชกาลที่ ๕ในราคา ๒๕,๐๐๐บาท(สองหมื่นห้าพันบาท) ผู้เขียนได้นำความนี้ไปปรึกษาอาจารย์วิรุฬห์ ท่านบอกว่าอย่าซื้อเพราะเป็นพระกริ่งสวนเต่าเก๊ ผู้เขียนจึงตอบปฏิเสธการซื้อขายพระกริ่งองค์นี้(ปัจจุบันพระกริ่งสวนเต่าเก๊องค์นี้ซื้อขายในราคาหลายแสนถึงล้าน) อาจารย์วิรุฬห์ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า พระกริ่งสวนเต่ารัชกาลที่ ๕ เท่าที่ท่านเคยเห็นมามีเพียงสององค์เท่านั้น องค์แรกเป็นของท่านเจ้าคุณวัดพิเรนทร์ ต่อมาได้มอบให้คุณนายคนในสกุลมหานนท์ ส่วนอีกองค์หนึ่งก็คือองค์ที่ท่านเป็นเจ้าของอยู่ พระกริ่งสวนเต่ารัชกาลที่ ๕องค์ของอาจารย์วิรุฬห์ท่านได้จากคุณหลวงสะอาด โดยเอาเหรียญเงินวัดหนังเลี่ยมทองอย่างดีบวกกับเงินจำนวน ๕๐๐บาท(ห้าร้อยบาท)แลกเปลี่ยนมา(คุณหลวงสะอาดอยากได้เหรียญเงินวัดหนังเลยแลกเปลี่ยนกัน) ทั้งที่อาจารย์วิรุฬห์ท่านทราบดีว่าพระกริ่งสวนเต่าองค์นี้เป็นพระแท้แน่นอน แต่เพื่อความไม่ประมาทท่านได้นำพระกริ่งองค์นี้ไปตรวจสอบอีกครั้ง โดยให้พระอาจารย์ไสว สฺมโนหรืออาจารย์ไสว วัดราชฯตรวจดูอีกครั้งว่าเป็นพระกริ่งองค์เดียวที่อาจารย์ไสวอยากได้หรือเปล่า อาจารย์ไสวเมื่อเห็นพระกริ่งองค์นี้ ตอบคุณวิรุฬห์ด้วยความเสียดายอยากได้เชิงประชดว่า"คุณหลวงถ้าจะบ้า เอาพระอย่างนี้มาแลกได้อย่างไร" พระกริ่งสวนเต่าทั้งสององค์ที่กล่าวมานี้ถือจักร
          อาจารย์วิรุฬห์ยังได้เล่าให้ผู้เขียนฟังอีกว่าในชีวิตของท่าน นอกจากจะหวงแหนพระกริ่งสวนเต่ารัชกาลที่๕แล้ว ท่านยังหวงแหนพระกริ่งอีกองค์หนึ่งคือ พระกริ่ง๘๓ พระกริ่งองค์นี้เดิมเป็นของเจ้าคุณศรีสนธิ์ บรรจุอยู่ในใต้ฐานพระบูชา ต่อมาเจ้าคุณศรีสนธิ์มรณภาพ พระบูชาจึงตกอยู่ในความครอบครองของอาจารย์นิรันตร์ แดงวิจิตรในฐานะผู้จัดการมรดก พระที่บรรจุอยู่ในพระบูชามีทั้งหมด ๗ องค์เป็นพระกริ่ง ๘๓ ทั้งหมด มีตบแต่ง ๒ องค์ อีก ๕ องค์ ไม่ตบแต่ง ต่อมาพระกริ่ง ๘๓ ทั้ง๗องค์ได้มอบให้หลวงพี่สังวาลย์ในฐานะที่ท่านเป็นหลานเจ้าคุณศรีสนธิ์  หลวงพี่สังวาลย์ได้กำหนดราคาบูชาพระกริ่ง ๘๓ องค์ที่ตบแต่งบูชาองค์ละ ๗๕๐ บาท (เจ็ดร้อยห้าสิบบาท) องค์ไม่ตบแต่งบูชาองค์ละ ๗๐๐ บาท (เจ็ดร้อยบาท) อาจารย์วิรุฬห์ได้บูชาองค์ตบแต่งในราคา ๗๒๐ บาท (เจ็ดร้อยยี่สิบบาท) เป็นพระกริ่งองค์ที่สวยที่สุด(แชมป์ในอดีต) อาจารย์วิรุฬห์ยังได้กล่าวเสริมอีกว่า "กว่าผมจะได้พระกริ่งองค์นี้มาในราคา ๗๒๐ ผมต้องเทียวไปเทียวมาหลายครั้งจึงจะได้" ต่อมาประมาณปี พ.ศ.๒๕๓๐ พระกริ่งสององค์นี้ได้จำหน่ายไปในราคาองค์ละแสนให้แก่ผู้เขียน สาเหตุที่อาจารย์วิรุฬห์จำหน่ายพระกริ่งสององค์นี้ ทั้งๆที่เป็นพระที่ท่านหวงแหนมากที่สุด เหตุผลเพราะ ท่านอายุมาก ไม่มีครอบครัว (ไม่มีลูกเมีย) ประกอบกับสุขภาพของท่านไม่ค่อยแข็งแรง เจ็บป่วยบ่อยๆ อาจมีความจำเป็นต้องใช้เงิน
          ผู้เขียนได้ไปมาหาสู่อาจารย์วิรุฬห์เสมอ หลังจากที่ท่านจำหน่ายพระกริ่งสวนเต่า รัชกาลที่ ๕ และพระกริ่ง ๘๓ให้ผู้เขียน สุขภาพของท่านอ่อนแอลง หลังจากนั้นไม่นานประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ผู้เขียนก็ไม่ได้พบอาจารย์วิรุฬห์อีกเลย ทราบข่าวว่าท่านเจ็บป่วยไปรักษาตัวที่จังหวัดสงขลา บ้านเกิดของท่าน ต่อมาท่านก็ถึงแก่กรรมที่บ้านเกิดของท่าน เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๕
          ด้วยคุณงามความดีและบุญกุศลที่อาจารย์วิรุฬห์ คงทองได้ก่อไว้ โปรดดลบันดาลให้อาจารย์วิรุฬห์ คงทอง ไปสู่สรวงสวรรค์เถิด


พระกริ่งสวนเต่ารัชกาลที่ 5 จักรพรรดิแห่งพระเครื่อง หนึ่งในพระกริ่งเบญจาภาคี




สุพล  คีรีวิเชียร
081-0434114





นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร


                 ประวัติพระเครื่องเมืองนครปฐม ขอแสดงความยินดีที่ท่านสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค๕ และประธานศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เมื่อวันที่๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๘



                                                                                     ประวัติพระเครื่องเมืองนครปฐม                                                              
                     
                         
                         
                       
                     
                                                 

               



























































ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น