คนนครปฐมโดยกำเนิด สำเร็จการศึกษานิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเนติบัณฑิตไทย มีความสนใจและศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพระเครื่อง ตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนอยู่ธรรมศาสตร์

วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2554

พระร่วงใบมะยมหรือใบมะยมข้างเม็ด วัดพระปฐมเจดีย์



      

พระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ


          เมื่อกล่าวถึงองค์พระปฐมเจดีย์ ทุกท่านไม่ว่าจะเป็นชาวไทย ชาวต่างประเทศ ย่อมรู้จักเป็นอย่างดีว่า เป็นองค์พระเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นเจดีย์ที่มีลักษณะวิจิตรงามเลิศพริ้ง ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครปฐม และเมื่อเอ่ยถึงองค์พระปฐมเจดีย์ ก็อดจะนึกถึงพระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ ปางห้ามญาติ ประดิษฐาน ณ วิหารพระประสูติ ด้านทิศเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งพระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวไทยและต่างชาติ แม้จะต่างศาสนาก็มานมัสการ และขอพร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้ชาวต่างชาติ ยังมีความศรัทธานับถือ ว่ามีความศักดิ์สิทธิ์
            ดังนั้นไม่ว่าชาวไทยหรือชาวต่างชาติ เมื่อมีโอกาสได้แวะผ่านจังหวัดนครปฐม ก็จะถือโอกาสเข้ามานมัสการ ขอพรต่อพระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ ปีหนึ่งๆ จะมีคนไทยและชาวต่างชาติแวะเวียนเข้ามานมัสการขอพร พระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ ประมาณ เป็นล้านคน
            ดังนั้นถ้าผู้ใดมีเรื่องทุกข์ร้อนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ หรือเรื่องส่วนตัว มักจะมานมัสการ ขอพร บนบานขานกล่าว ต่อพระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ อันเห็นได้จากบริเวณลานหน้าพระร่วงโรจนฤทธิ์จะมีประชาชน จำนวนมาก ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ  มากราบไหว้อย่างมิขาดสายตลอดเวลา บางท่านก็นำไข่ต้มสุกเปลือกทาด้วยสีแดงจำนวนหนึ่งที่บนบานไว้ เมื่อสำเร็จตามความประสงค์ ก็จะนำไข่จำนวนดังกล่าวมากราบไหว้แก้บน ดังนั้นพระร่วงโรจนฤทธิ์ จึงถือเสมือนหนึ่งว่าเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย และเป็นพระพุทธรูปที่เป็นที่พึ่งที่พิงในยามทุกข์ยากของชาวไทย และชาวต่างประเทศ อันเป็นเหตุให้ประชาชนทั่วไปขนานพระนามท่านว่า หลวงพ่อพระร่วง
         ความศักดิ์สิทธิ์ในองค์หลวงพ่อพระร่วง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปและพระประธาน และเป็นที่กล่าวขานในหมู่ประชาชนทั่วไปตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีตำแหน่งหน้าที่การงานสูงสุดหรือต่ำสุดเพียงใด ต่างก็มานมัสการขอพรจากหลวงพ่อพระร่วง และทุกท่านที่มาขอพร ต่างก็สมความปรารถนาและที่โจษจันกันมากคืออดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของประเทศหลายท่าน ยังได้มานมัสการขอพรจากหลวงพ่อพระร่วงและทุกท่านที่มาขอพรต่างก็สมความปรารถนาทุกท่านคือ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี อาทิ คุณบรรหาร ศิลปอาชา คุณชวน หลีกภัย คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย (เป็นความเชื่อส่วนบุคคล โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน)
            พระเครื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้คือพระร่วงใบมะยมหรือใบมะยมข้างเม็ด เป็นเหรียญหล่อโบราณ เนื้อสัมฤทธิ์ สร้างโดยพระธรรมวโรดม (โชติ ธมฺมปฺป โชติโก) วัดพระปฐมเจดีย์ ในการสร้างเหรียญหล่อโบราณของท่านเจ้าคุณโชตินั้น ท่านจะนำชิ้นส่วนของพระชำรุดพระประธานสมัยทราวดีเป็นส่วนผสมในการสร้างเหรียญหล่อทุกครั้ง ดังนั้นส่วนผสมของพระร่วงใบมะยมจึงประกอบด้วยชิ้นส่วนชำรุดของพระประธานสมัยทราวดี ชนวนโลหะเก่าต่างๆ และแผ่นโลหะที่ลงอักขระโดยพระคณาจารย์ต่างๆที่มาร่วมเข้าพิธื พระร่วงใบมะยมที่ท่านเจ้าคุณโชติได้จัดพิธีเทหล่อพระ ณ บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์มี ๓ ครั้ง ดังจะกล่าวต่อไปนี้
                          ครั้งแรก      จัดพิธีพุทธาภิเษกเทหล่อพระ เมื่อ พ.ศ. 2484
                          ครั้งที่สอง    จัดพิธีพุทธาภิเษกเทหล่อพระ เมื่อ พ.ศ. 2485
                          ครั้งที่สาม   จัดพิธีพุทธาภิเษกเทหล่อพระ เมื่อ พ.ศ. 2487
            รายละเอียดของพิธีพุทธาภิเษกพระร่วงใบมะยมทั้ง 3 ครั้งนี้ ผู้เขียนจะถือโอกาสกล่าวต่อไปในตอนท้ายของเรื่อง

              พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6  ครั้งยังดำรงพระอิสสริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราช (รัชทายาท) เสด็จประพาสหัวเมืองภาคเหนือ ได้ทรงพบพระพุทธรูปสันนิษฐานได้แน่ว่า เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ เมื่อปี พ.ศ. 2451 ที่เมืองศรีสัชนาลัยโบราณราชธานี จังหวัดสุโขทัย ซึ่งในสมัยนั้นมีชื่อเรียกว่า  เมืองสวรรคโลก  “ ประกอบด้วยพุทธลักษณะงดงามเป็นศิลปะสุโขทัย เป็นที่ต้องพระราชหฤทัย ของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 6  แต่องค์พระพุทธรูปชำรุดเสียหายมาก ยังคงเหลืออยู่แต่พระเศียร กับพระหัตถ์ข้างหนึ่ง และพระบาท  พระองค์จึงโปรดให้อัญเชิญมายังกรุงเทพฯ
            ครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6  ได้เสด็จเถลิงถวัลย์ครองราชสมบัติ  ต่อมาปี พ.ศ.2454 พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ กรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์ (พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร) เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ จัดประมาณการค่าใช้จ่ายในการหล่อปฏิสังขรณ์ และดำเนินการจัดหาช่างปั้นหุ่น สถาปนาขึ้นให้บริบูรณ์เต็มองค์พระพุทธรูป
            พ.ศ.2456 เมื่อการปั้นหุ่นพระพุทธรูปนั้นบริบูรณ์เสร็จแล้ว เป็นอันจัดเททองหล่อได้ พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีสถาปนา พระพุทธรูปองค์นั้น ในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2456  ตรงกับวันมหามงคลสมัยฉลองและเฉลิมพระชนมพรรษา ณ วัดเชตุพลวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร  ในการนี้มีเกร็ดประวัติศาสตร์แทรกอยู่บ้าง  จึงใคร่ขอนำมาเล่าสู่กันฟัง
            เมื่อการหล่อหลอมองค์พระพุทธรูปครั้งแรกได้สำเร็จลงแล้ว เจ้าพนักงานจึงได้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูล ในหลวงรัชกาลที่ 6  เสด็จทอดพระเนตร  แต่ปรากฎว่ายังไม่เป็นที่ประสพพระหฤทัย  ต่อมานายช่างทราบถึงพระราชประสงค์อันแท้จริง จึงหล่อให้พระอุทรพลุ้ยยื่นออกมาเหมือนคนอ้วน และใกล้จะลงพุงต่างจากครั้งแรก ซึ่งหล่อตรงพระอุทรแบบธรรมดาเท่านั้น ครั้งหล่อเรียบร้อยแล้ว เจ้าพนักงานจึงเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 เสด็จทอดพระเนตรอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ปรากฎว่า ในหลวงทรงพอพระทัยยิ่งนัก ถึงออกพระโอษฐ์ ตรัสชมความสามารถในเชิงฝีมือของนายช่าง  ครั้งนี้ พระองค์มีพระราชประสงค์  ที่จะให้พสกนิกรทราบว่า พระพุทธรูปองค์นี้พระองค์ทรงสร้าง และทรงฝากอนุสาวรีย์ที่พระอุทร ของพระพุทธรูป เนื่องด้วยพระองค์มีพระอุทรสมบูรณ์เป็นพิเศษ หากใครมานมัสการสังเกตเห็นพระอุทรของพระพุทธรูป ก็จะได้รำลึกถึงพระองค์ (ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6) ดังนั้นเมื่อเรามองทางด้านตรงพระพักตร์พระพุทธรูป ก็จะเห็นว่า มีพระพุทธลักษณะ งดงามสม่ำเสมอ แต่ถ้ามองทางด้านข้างทั้งเบื้องขวาและเบื้องซ้าย ของพระพุทธรูปแล้ว จะเห็นพระอุทรพลุ้ยออกมา  เมื่อหล่อสำเร็จแล้ว พระพุทธรูปนั้นมีขนาดสูง ตั้งแต่พระบาทถึงยอดพระเกศ  12 ศอก 4 นิ้ว (7.42 เมตร) สมบูรณ์ด้วยพระพุทธลักษณะทุกประการ  เป็นพระพุทธรูปที่สวยงามองค์หนึ่งของเมืองไทย สิ้นค่าใช้จ่ายทั้งหมด เป็นเงิน 21,205.45 บาท (สองหมื่นหนึ่งพันสองร้อยห้าบาทสี่สิบห้าสตางค์)
            พ.ศ.2457 จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญ พระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ โดยขบวนรถไฟจากกรุงเทพมหานคร ไปประดิษฐาน ไว้ ณ พระวิหารพระประสูติ ด้านทิศเหนือ ที่องค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ขบวนรถไฟออกจากกรุงเทพมหานคร เมื่อเดือน มกราคม พ.ศ.2457 เจ้าพนักงานจัดการประกอบองค์ขึ้น ประดิษฐานตบแต่งจนแล้วเสร็จบริบูรณ์ เป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่  ประทับยืนสง่างาม ในซุ้มเรือนแก้วอันพราวด้วยลวดลาย ที่วิจิตรงามเลิศพริ้ง ด้วยอิริยาบถประทับยืน บนฐานหล่อบัวคว่ำ บัวหงาย ทำวงพระพักตร์ยาว พระหนุเสี้ยม นิ้วพระหัตถ์ พระบาทไม่เสมอกัน ห้อยพระหัตถ์ซ้ายลงข้างพระวรกายแบฝ่าพระหัตถ์ตั้งขึ้นยื่นออกไปข้างหน้าระดับพระอุระ เป็นกิริยาห้าม ห่มจีวรบางครุมแนบติดพระวรกาย บ่ายพระพักตร์สู่ทิศเหนือ  ณ วันที่  2 พฤศจิกายน พ.ศ.2458
พ.ศ.2463 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผูกพันกับพระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ เป็นอย่างยิ่ง แม้ในวาระสุดท้ายแห่งพระชนย์ชีพ ได้ทรงระบุไว้ในพระราชพินัยกรรมข้อ 17 ซึ่งเป็นข้อสุดท้ายว่า
พระอังคารขอให้บรรจุใต้ฐานพระพุทธชินสีห์ในวัด บวรวิหารส่วนหนึ่ง  อีกส่วนหนึ่งให้กันเอาไว้บรรจุใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ ที่องค์พระปฐมเจดีย์ ในโอกาสอันเหมาะ ซึ่งไม่ติดต่อกับงานพระเมรุ
ต่อมาเมื่อ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคตแล้ว พระบามสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ สืบสันติวงค์ ก็ได้เสด็จพระราชดำเนิน มาทำบุญสมโภชองค์พระปฐมเจดีย์ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2469 พร้อมกับบรรจุพระบรมราชสรีรางคาร ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ไว้ใต้ฐานชุกชี พระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ ตามพระราชพินัยกรรม ที่พระองค์ได้สั่งไว้ก่อนที่จะเสด็จสวรรคต
            เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระร่วงโรจนฤทธิ์ มาประดิษฐานที่องค์พระปฐมเจดีย์ในครั้งนั้น ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ยังมิได้ถวายพระนามให้ ครั้งต่อมาเมื่อพระองค์เสด็จประพาส มณฑลอยุธยาฯ ขณะประทับแรมอยู่ ณ พลับพลาเจ้าเจ็ด อำเภอ เสนา เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2466 ได้มีพระราชหฤทัยรำลึกถึงว่า ยังมิได้ถวายพระนามให้สมกับพระราชศรัทธา ดังนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้ถวายพระนาม พระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรโมภาส มหาวชิราวุธ ราชปูชนียบพิตร




พระปฐมเจดีย์




            ในปี พ.ศ.235 เดือน 12 คณะสมณฑูต ประกอบด้วย พระอรหันต์ 5 รูปคือ พระโสณเถระ พระอุตตรเถระ พระฌานียเถระ พระภูริยเถระ พระมุนียเถระ พร้อมด้วยสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ร่วมคณะอีก 38 คน เดินทางจากเมืองปาฏลีบุตร ประเทศอินเดียโบราณ ตามคำอาราธนาของพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์ผู้ปกครองเมืองปาฏลีบุตรในขณะนั้น ให้นำเอาพระพุทธศาสนามาประกาศและประดิษฐานยังดินแดนสุวรรณภูมิ คือเมืองนครปฐม ในขณะนี้ เมื่อคณะสมณฑูตเดินทางมาถึงดินแดนสุวรรณภูมิ ขณะนั้นพระเจ้าโลกละว้าราชาธิบดีเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ครองเมืองในสมัยนั้น ได้ถวายการต้อนรับคณะสมณฑูตเป็นอย่างดี และเป็นกำลังสำคัญช่วยในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ประชาชนได้นับถือศาสนาพุทธ จนพระพุทธศาสนาเกิดความมั่นคงและเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว จนมาถึงปี พ.ศ.266 พระโสณเถระ และพระอุตตรเถระ ได้ร่วมกับกษัตริย์ผู้ครองเมืองและประชาชน ช่วยกันสร้างพระเจดีย์ขึ้น 1 องค์ ลักษณะทรงบาตรคว่ำสูง 18 วา 2 ศอก คล้ายสาญจิเจดีย์ ที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้สร้างไว้ในเมืองโพปาล ประเทศอินเดีย เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พระเจ้าอโศกมหาราชพระราชทานมาไว้ในเจดีย์ทรงบาตรคว่ำนั้น เพื่อต้องการให้เป็นสถานที่สักการะบูชาของเทพยดาและมนุษย์ ถือเป็นเจดีย์องค์แรกในดินแดนสุวรรณภูมิ พระบรมสารีริกธาตุในส่วนนี้เป็นพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าในส่วนของพระเจ้าอชาติศัตรูได้ครอบครองรักษา ต่อมาเมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชเข้าครอบครองเมืองราชคฤหมหานคร พระบรมสารีริกธาตุในส่วนนี้จึงตกเป็นของพระเจ้าอโศกมหาราช
            ต่อมาในสมัยยุคทวารวดี (ประมาณ พ.ศ.700-1000) เจ้าผู้ครองนครเมืองทวารวดี ก็ได้ประสพปาฏิหาริย์แห่งองค์พระปฐมเจดีย์จึงมีความศรัทธา เชื่อมั่นว่ามีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ในองค์พระปฐมเจดีย์แน่นอน เมื่อองค์พระปฐมเจดีย์ชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา ก็ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ อันเป็นเหตุให้รูปแบบขององค์พระปฐมเจดีย์ผิดเพี้ยนไปจากเดิม และต่อมาผู้ครองเมือนครปฐมโบราณอ่อนแอลง เพราะถูกรุกรานจากผู้ครองนครเมืองอื่น จึงเป็นเหตุให้องค์พระปฐมเจดีย์ขาดผู้ทำนุบำรุงดูแล



ภาพวาดองค์พระปฐมเจดีย์


สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
เป็นสถาปนิกออกแบบองค์พระปฐมเจดีย์ พ.ศ.2403


            ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ.2374 ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ขณะนั้นทรงผนวชได้เสด็จธุดงค์มายังองค์พระปฐมเจดีย์ สมัยนั้นวัดพระปฐมเจดีย์มีสภาพเป็นวัดอยู่แล้ว จะมีพระสงฆ์จำนวนเท่าใดนั้น ไม่ทราบ และพระสงฆ์องค์ใดเป็นเจ้าอาวาสก็ไม่มีบันทึกไว้ให้ปรากฎ พระองค์ทรงพระดำริว่าเป็นพระเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์น่าจะมีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ภายใน จึงนำความกราบทูลสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 ก็หาโปรดไม่ รับสั่งว่า เป็นของอยู่ในป่ารกจะทำขึ้นก็ไม่เป็นประโยชน์อันใดนัก  ครั้นเมื่อสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสวยราชย์แล้ว จึงโปรดให้ปฏิสังขรณ์ก่อเป็นพระเจดีย์หุ้มข้างนอก แรกโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ เป็นแม่กองจัดสร้างเมื่อราว พ.ศ.2396 ครั้นเมื่อท่านถึงแก่พิราลัย จึงโปรดให้พระยาทิพากรศ์ (ขำ) จัดทำต่อมา ต้องก่อองค์พระปฐมเจดีย์หุ้มใหม่ เพราะฝนตกหนัก ที่ก่อไว้เก่าทรุดลงมา จึงโปรดฯ ให้กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ (สมเด็จพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์) และ กรมขุนราชสีหวิกรมคิดแบบตัวอย่างถวาย ได้จัดการก่อเมื่อ พ.ศ.2403 พร้อมทั้งวิหารทั้ง 4 ทิศ ไว้ประดิษฐานพระพุทธรูป 4 ปาง 
            องค์พระปฐมเจดีย์มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุแน่นอนโดยไม่ต้องสงสัย เพราะเคยแสดงปาฏิหาริย์ ให้ปรากฎแก่ผู้เคารพมาแล้วหลายครั้งหลายหน
            ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 พบปาฏิหาริย์แห่งองค์พระปฐมเจดีย์ ขณะทรงผนวชจนถึงครองราชสมบัติ รวม 6 ครั้ง
            ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 พบปาฏิหาริย์แห่งองค์พระปฐมเจดีย์ รวม 3 ครั้ง 
            ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 พบปาฏิหาริย์แห่งองค์พระปฐมเจดีย์ รวม 2 ครั้ง 
            ในหลวงรัชกาลปัจจุบัน (รัชกาลที่ 9) พบปาฏิหาริย์แห่งองค์พระปฐมเจดีย์ รวม 2 ครั้ง ดังนั้นพระเกจิอาจารย์ในอดีตมักจะหาโอกาสมากราบไหว้องค์พระปฐมเจดีย์เพื่อความเป็นศิริมงคลโดยเชื่อว่ามากราบไหว้พระพุทธเจ้าองค์จริง จนมีคำกล่าวขานของพระเกจิอาจารย์ในยุคนั้นว่า"ปลุกเสกพระวัดไหน ก็ไม่ขลังเท่ากับปลุกเสกพระที่องค์พระปฐมเจดีย์(จากหนังสือ"ที่ระลึกงานฉลองสมโภชองค์พระปฐมเจดีย์ ครบ ๑๕๐ ปีวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร วันที่ ๑-๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๖หน้า๑๔๓")
            ได้กล่าวมาแต่ตอนต้นแล้วว่า วัดพระปฐมเจดีย์สร้างโดยพระราชศรัทธาของพระมหากษัตริย์ พระมหาเถระ เศรษฐี คฤหบดี พุทธศาสนิกชนร่วมกันสร้างและ ทำนุบำรุง สืบต่อกันมา ทั้งนี้ ก็เพื่อบูชาพระพุทธเจ้าเมื่อเกิดวัดที่ใดก็ต้องมีพระเถระเป็นผู้ปกครองวัดซึ่งต่อมาเรียกว่า สมภารบ้าง เจ้าอาวาส บ้าง สำหรับวัดพระปฐมเจดีย์มีเจ้าอาวาสรูปแรกคือพระโสณเถระในยุคต้นปกครองวัด  ต่อจากนั้นก็ไม่ปรากฎหลักฐานว่ามีพระเถระรูปใด เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดสืบต่อมากี่รูป มาพบหลักฐานเมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4  เริ่งก่อสร้างองค์พระปฐมเจดีย์ดังต่อไปนี้
            เจ้าอธิการแป้น ยโสธโร ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดองค์พระปฐมเจดีย์ประมาณ ก่อน พ.ศ. 2400 – 2408
            พระสนิทสมณคุณ (แก้ว) ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดองค์พระปฐมเจดีย์ประมาณ พ.ศ. 2408 – 2411
            พระปฐมเจติยานุรักษ์ (กล่ำ) ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดองค์พระปฐมเจดีย์ประมาณ พ.ศ. 2411–2447 จากนั้นวัดพระปฐมเจดีย์ก็ได้ว่างจากเจ้าอาวาส 5 ปี จนถึง พ.ศ. 2452
            พระนิกรมมุนี (ซ้อน โสณุตฺตโร ป.ธ.6) ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดองค์พระปฐมเจดีย์ประมาณ พ.ศ. 2453 – 2455
            พระพุทธรักขิต(พลอย เปรียญตรีเทียบ 4 ประโยค) ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดองค์พระปฐมเจดีย์ประมาณ พ.ศ. 2455 – 2462
            พระนิกรมมุนี (โชติ ธมฺมปฺปโชติโก ป.ธ.8) ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดองค์พระปฐมเจดีย์ประมาณ พ.ศ. 2465 -2497
            พระสิริชัยมุนี (ชิด ชิตวิปุโล ป.ธ. 5) ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดองค์พระปฐมเจดีย์ประมาณ พ.ศ. 2498 – 2527
            พระเมธีธรรมานุวัตร (โชติ ฐิตโชติ ป.ธ. 7) ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดองค์พระปฐมเจดีย์ประมาณ พ.ศ. 2528 – 2535
            พระศรีสุธรรมเมธี (สุเทพ ยุสฺสธมฺโม ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์องค์ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 ต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระธรรมปริยัติเวที



พระธรรมวโรดม (โชติ ธมฺมปฺปโชติโก ป.ธ.8)

พระธรรมวโรดม นามเดิม โชติ ฉายา ธมฺม ปฺปโชติ นามสกุล ปัณฑิตยกุล เป็นบุตรนายแพ นางเปลี่ยน เกิดที่ตำบลกุฎี อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2423 ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง เวลา 24.00 น. มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 6 คน คือ
1.      พระธรรมวโรดม (โชติ ปัณฑิตยกุล)
2.      นายส่วน ปัณฑิตยกุล (เปรียญ)
3.      นายฉันท์ ปัณฑิตยกุล
4.      นางบุญมาก
5.      หลวงวุฒิธรรม เนติกร (กระวี ปัณฑิตยกุล)
6.      ขุนปรีชาชนบาล (ถวิล ปัณฑิตยกุล)
พ.ศ. 2438 ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดมหาธาตุ พระนคร มีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม) เป็นพระอุปัชฌายะ
พ.ศ.2443 ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดเบญจมบพิตร เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2443 ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำเดือน 1 ปีชวด โทศก เวลา 18.35 น. สมเด็จพระวันรัต (แดง) เจ้าอาวาสวัดสุทัสน์เทศวราราม เป็นพระอุปัชฌายะ สมเด็จพระวันรัต (ดิศ) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นที่พระพิมลธรรม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ สมเด็จพระวันรัต (จ่าย) อดีตเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร ครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นที่พระเทพมุนี เป็นพระอนุสาวนาจารย์
เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้เล่าเรียนศึกษาพระปริยัติธรรมกับสมเด็จพระวันรัต (ดิศ) บ้าง สมเด็จพระวันรัต (จ่าย) บ้าง ได้เข้าสอบบาลีสนามหลวง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สอบบาลี ป.ธ.8 ได้ในปีพ.ศ.2451 ต่อมาก็ไม่มีโอกาสได้เข้าสอบป.ธ.9 เพราะสมเด็จพระมหาสมณเจ้าทรงพระประชวรโรคพระชราเรื้อรัง ไม่ได้ทรงสอนนักเรียนอีกสืบไป ท่านเจ้าคุณจึงยุติการศึกษาแต่เพียงนั้น
ท่านเจ้าคุณพระธรรมโรดมนั้นตามประวัติปรากฎว่า ตั้งแต่ครั้งอยู่วัดเบญจมบพิตร และอยู่วัดพระปฐมเจดีย์ มีจริยวัตรและอัธยาศัยสุภาพ อ่อนโยนต่อบุคคลทั่วไป เมื่อเป็นครูก็เป็นครูที่ดีของศิษย์ เมื่อเป็นผู้ปกครองก็เป็นผู้ปกครองที่ดี เป็นอุดมมิตรของบุลคลทั่วไป เมื่อมาอยู่วัดพระปฐมเจดีย์ก็เป็นประดุจบิดา ผู้มีพรหมวิหารของบุตร เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของบรรดาผู้อยู่ในปกครอง เป็นที่รักและเคารพของบรรดาศิษยานุศิษย์ ผู้นับถือ ตลอดจนผู้ที่รู้จักโดยทั่วไป ดำรงอยู่ในสมณวัตรดีงาม
พ.ศ.2465 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเจ้าคุณพระธรรมวโรดม (โชติ) จากวัดเบญจมบพิตร มารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2465 และสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากลมหลวงชินวรศิริวัฒน์ วัดราชบพิตรทรงตั้งให้เป็นพระอุปัชฌายะ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2465

พระเครื่องของพระธรรมวโรดม (โชติ) ที่ผู้เขียนกล่าวต่อไปนี้ คือ เหรียญหล่อโบราณ นามว่า พระร่วงใบมะยม หรือใบมะยมข้างเม็ด เจ้าคุณธรรมวโรดม (โชติ) ได้จัดทำพิธีพุทธาภิเษกเทหล่อพระ บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ 3 ครั้ง ดังต่อไปนี้
ครั้งแรก จัดพิธีพุทธาภิเษกเทหล่อพระเมื่อประมาณพ.ศ.2484 เนื้อสัมฤทธิ์แก่ทองแดง รูปเหรียญเป็นรูปใบมะยม มีไข่ปลาล้อมรอบบริเวณขอบเหรียญ เป็นรูปพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ ยกพระหัตถ์ขวาขึ้น ประทับอยู่บนบัวสองชั้น ซึ่งพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาตินี่ได้แบบจำลองมาจากพระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ ด้านหลังเหรียญมีอักษรขอม อ่านว่า อะ ระ หัง พุท โธขนาดของเหรียญยาว 4 เซนติเมตร กว้าง 1.9 เซนติเมตร หนา 0.1 เซนติเมตร



  
รุ่นแรก พ.ศ.2484


ครั้งที่สอง จัดพิธีพุทธาภิเษก เทหล่อพระ เมื่อประมาณพ.ศ.2485 เนื้อสัมฤทธิ์แก่ทองเหลือง รูปลักษณะเหรียญแบบเดียวกับเทหล่อเหรียญสร้างครั้งแรก ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปแบบพิมพ์เดียวกับครั้งแรก ส่วนด้านหลังเหรียญเป็นรูปองค์พระปฐมเจดีย์ มีขนาดเท่ากับเหรียญที่สร้างครั้งแรก





รุ่นสอง พ.ศ.2485


ครั้งที่สาม จัดพิธีพุทธาภิเษกเทหล่อพระ เมื่อประมาณพ.ศ.2487 รูปแบบเหรียญมี 2 แบบ คือ แบบพิมพ์ใหญ่ และแบบพิมพ์เล็ก
แบบพิมพ์ใหญ่ รูปแบบและเนื้อโลหะเช่นเดียวกับสร้างครั้งที่สอง เพียงแต่ด้านหลังเหรียญเพิ่มข้อความใต้รูปองค์พระปฐมเจดีย์ ว่า พระปถมเจดีย์
แบบพิมพ์เล็ก มีลักษณะรูปแบบและเนื้อ เหมือนพิมพ์ใหญ่ แต่มีขนาดเหรียญเล็กกว่า มีความยาวของเหรียญ 2 เซนติเมตร กว้าง 1.4 เซนติเมตร หนา 0.1 เซนติมเตร เหรียญพิมพ์เล็กนี้สร้างจำนวนน้อยมาก
 
 


แบบพิมพ์ใหญ่   รุ่นสาม พ.ศ.2487


   
แบบพิมพ์เล็ก   รุ่นสาม พ.ศ.2487

คณาจารย์ที่เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกพระร่วงใบมะยมครั้งแรกพ.ศ.2484 มีจำนวนมาก เท่าที่สืบได้มีดังต่อไปนี้
1.      หลวงพ่อคง วัดบางกระพร้อม จ.สมุทรสงคราม
2.      หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง จ. นครปฐม
3.      พระครูอุตตรการบดี (สุข) วัดห้วยจรเข้ จ.นครปฐม
4.      หลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง จ.นครปฐม
5.      หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จ.พระนครศรีอยุธยา
6.      หลวงพ่อน้อย วัดศรีษะทอง จ.นครปฐม
7.      หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ จ.สมุทรสงคราม
8.      หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ จ.สมุทรสาคร
9.      หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ จ.กาญจนบุรี
10.  หลวงพ่อวงศ์ วัดทุ่งผักกูด จ.นครปฐม
                11.  หลวงพ่อห้อย วัดหอมเกร็ด จ.นครปฐม



         ส่วนคณาจารย์ที่เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกครั้งที่ 2 พ.ศ.2485 และครั้งที่ 3 พ.ศ.2487 น่าจะเป็นคณาจารย์ชุดเดียวกับครั้งแรก พ.ศ.2484 แต่ก็อาจจะมีพระอาจารย์บางรูปมิได้เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษก เพราะท่านติดอาพาธและมรณภาพก่อน
         ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า พระร่วงใบมะยมหรือใบมะยมข้างเม็ด เป็นพระเครื่องที่มีพุทธานุภาพสูงมาก เมื่อพิจารณาพีธีกรรมในการสร้างคือมีการดำเนินการถูกต้องตามโบราณกาล มีการเทหล่อพระที่วัด และส่วนผสมเป็นองค์พระ มีแผ่นยันต์ของคณาจารย์ ทองชนวนของวัดอื่นหรือโลหะโบราณเป็นส่วนผสม  สถานที่ประกอบพิธีกรรม คณาจารย์ที่ร่วมปลุกเสก และมูลเหตุของการสร้างคือเจตนาของผู้สร้างดี(มิได้สร้างเพื่อหาปัจจัยเป็นประโยชน์ส่วนตัวหรือมีนัยยะซ่อนเร้นหรือผลประโยชน์ทับซ้อน) ค่านิยมองค์สวยแชมป์อยู่ที่ประมาณสอง-สามหมื่นบาท
         
สาเหตุที่สร้างพระคันธราฐ ปีพ.ศ.๒๔๗๖
        ในปี พ.ศ.2472 เกิดฝนแล้งทั่วไป ประชาชนต่างอดอยากเป็นอย่างยิ่ง ท่านเจ้าคุณโชติมาปรารภถึงเหตุนี้ และต่อมาท่านเจ้าคุณโชติจึงได้จัดพิธีหล่อพระคันธราฐ (ปางขอฝน) ในการเท่หล่อพระครั้งนี้ท่านเจ้าคุณโขติได้มอบหมายให้ช่างแช่ม ชื่นจิตต์เป็นผู้หล่อพระครั้งนี้(ช่างแช่มอายุมากกว่าเจ้าคุณโชติ) เมื่อประมาณปี พ.ศ.2476 แล้วจำแนกแจกจ่ายไปยังวัดต่างๆ วัดละ 1 องค์ รวม 150 วัด เมื่อตำบลใดข้าวยากหมากแพง ประชาชนพากันอาราธนาพระคันธราฐ ออกทำพิธีบวงสรวงขอฝน ซึ่งมีอภินิหารเป็นที่น่าอัศจรรย์ และในโอกาสนั้นได้มีการสร้างพระคันธราฐองค์ประธานสูงประมาน 2 เมตร10 เซนติเมตร 1องค์ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่บนศาลาการเปรียญ 4
        นอกจากนี้ยังได้มีการสร้างพระเครื่องคันธราฐ พระบูชาคันธราฐ และพระบูชาประจำวัน(ตามสั่งจองโดยติดต่อกับช่างหล่อเอง)เพื่อสมนาคุณผู้ร่วมบริจาคปัจจัย เป็นค่าใช้จ่ายในการขุดสระ และ ค่าใช้จ่ายในการสร้างศาลาการเปรียญ จำนวนการสร้างพระเครื่อง ผู้เขียนเข้าใจว่าน่าจะสร้างหลายหมื่นองค์ ส่วนพระบูชาน่าจะสร้างร่วมพันองค์
        บทความนี้ ผู้เขียนจะขอกล่าวถึง พระคันธราฐส่วนที่เป็นพระเครื่องเท่านั้นเท่าที่ปรากฎหลักฐานมีเพียง 3 พิมพ์ คือ พิมพ์กลีบจำปา  พิมพ์ใบหอก และพระนาคปรกรูปหล่อลอยองค์ ๗ เศียร
        เหรียญพระคันธราฐทั้งสองพิมพ์เป็นเหรียญหล่อโบราณรูปพระพุทธประทับยืน (ปางขอฝน) บนฐานอาสนบังลังก์บัวหงายชั้นเดียว พิมพ์กลีบจำปาพระพักตร์เป็นศิลปะแบบอินเดีย ส่วนพิมพ์ใบหอกพระพักตร์เป็นศิลปะแบบไทย ส่วนด้านหลังเป็นอัขระขอมบาลีอ่านว่า " อะ ระ หัง พุท โธ " ขนาดพิมพ์กลีบจำปา ขนาดสูงประมาณ 3.5 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.3 เซนติเมตร ขนาดพิมพ์ใบหอกสูงประมาณ 2.8 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.1 เซนติเมตร มีสองเนื้อคือ เนื้อขันลงหิน และ เนื้อแร่




พิมพ์กลีบจำปา





พิมพ์ใบหอก


             ส่วนพระนาคปรกรูปหล่อลอยองค์ของท่านเจ้าคุณโชติ เนื้อพระเป็นสัมฤทธิ์เหลืองอมแดง(แก่ทองแดง) เมื่อมีการสัมผัสนานๆเนื้อจะกลับกลายเป็นสีน้ำตาลไหม้ พระพักตร์เป็นศิลปะแบบอินเดีย ส่วนพญานาคมี 7 เศียร ด้านหลังองค์พระมียันต์เฑาะว์มหาพรหม(เฑาะว์ขัดสมาธิ) ตามด้วยอุหางชี้ลง (บางองค์บรรจุกริ่ง) ขนาดสูงประมาณ 5 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2.4 เซนติเมตร หนาประมาณ 1.4 เซนติเมตร จำนวนการสร้างไม่เกิน 100 องค์ (หลักสิบ) องค์ที่บรรจุกริ่งเข้าใจว่าเป็นพระประจำตัวท่านเจ้าคุณโชติ


พระนาคปรก 7 เศียร


             พระนาคปรก 7 เศียรของเจ้าคุณโชติที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นพระเครื่องชุดหนึ่งที่สร้างพร้อมกับพระคันธราฐพิมพ์กลีบจำปาและพิมพ์ใบหอก แต่เนื้อทองชนวนจะสูงกว่าพิมพ์กลีบจำปาและใบหอก นอกจากนี้ในพิธีดังกล่าว เจ้าคุณโชติได้เท่หล่อพระบูชาพระนาคปรก ๗ เศียร ขนาดหน้าตัก ๕ นิ้ว ๑ องค์ และยังเปิดโอกาสอนุญาตให้ประชาชนทั่วไป เท่หล่อพระบูชาประจำวันโดยติดต่อกับช่างแช่ม ชื่นจิตต์ซึ่งเป็นช่างหล่อพระในพิธีโดยตรง 
             พระนาคปรก รูปหล่อลอยองค์ของเจ้าคุณโชติที่ผู้เขียนกล่าวข้างต้น เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๑๘ เล่นหากันประมาณพันกว่าบาท นับว่าเป็นพระเครื่องที่มีราคาสูงสุดของเจ้าคุณโชติในขณะนั้น ส่วนพระคันธราฐพิมพ์กลีบจำปาและพิมพ์ใบหอก เล่นหากันประมาณหนึ่งร้องบาทถึงสองร้อยบาท ปัจจุบันพระนาคปรกน่าจะเล่นหากันอยู่ที่ประมาณห้าหมื่นบาท( ๖ ก.ย.๕๕)  อนาคตมีสิทธิราคาสูงถึงหลักแสนนับว่าเป็นพระเครื่องที่มีราคาสูงสุดของเจ้าคุณโชติ (องค์ที่บรรจุกริ่งเจ้าของได้จำหน่ายไปในราคาแสนสองหมื่นบาท)     
            คณาจารย์ที่เข้าร่วมในพิธีพุทธาภิเษกในครั้งนี้
                 ๑.หลวงปู่บุญ       วัดกลางบางแก้ว
                 ๒.หลวงพ่อปาน    วัดบางนมโค
                 ๓.หลวงพ่อโหน่ง   วัดคลองมะดัน
                 ๔.หลวงพ่อไปล่     วัดกำแพง
                 ๕.หลวงพ่ออิ่ม      วัดหัวเขา
                 ๖.หลวงพ่อคง      วัดบางกระพร้อม จ.สมุทรสงคราม
    ๗.หลวงพ่อแช่ม   วัดตาก้อง จ. นครปฐม
    ๘.พระครูอุตตรการบดี (สุขวัดห้วยจรเข้ จ.นครปฐม
    ๙.หลวงปู่จันทร์    วัดบ้านยาง จ.นครปฐม
    ๑๐.หลวงพ่อจง    วัดหน้าต่างนอก จ.พระนครศรีอยุธยา
    ๑๑. หลวงพ่อน้อย  วัดศรีษะทอง จ.นครปฐม
    ๑๒.หลวงปู่ใจ      วัดเสด็จ จ.สมุทรสงคราม
    ๑๓.หลวงพ่อรุ่ง     วัดท่ากระบือ จ.สมุทรสาคร
    ๑๔.หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ จ.กาญจนบุรี
    ๑๕.หลวงพ่อวงศ์   วัดทุ่งผักกูด จ.นครปฐม
                      ๑๖.หลวงพ่อห้อย   วัดหอมเกร็ด จ.นครปฐม 
                 ๑๗.หลวงปู่ชา       วัดสามกระบือเผือกและอาจารย์อื่นๆที่ไม่ทราบ





สุพล  คีรีวิเชียร
081-0434114



         พระบูชาพระร่วงโรจนฤทธิ์ วัดพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม รุ่นแรก พ.ศ.๒๕๑๐




ปางห้ามญาติ สูง ๑๒ นิ้ว




พระเครื่องพิธีพุทธาภิเษกวัดพระปฐมเจดีย์ ปี พ.ศ.๒๔๙๖ 
คณาจารย์ที่ร่วมปลุกเสกที่สำคัญ หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ , หลวงพ่อวงษ์ วัดทุ่งผักกูด , หลวงพ่อห่วง วัดท่าใน , หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม , หลวงพ่อน้อยวัดธรรมศาลา , หลวงพ่อเหรียญ วัดหนองบัว


เหรียญพระปฐมเจดีย์ พ.ศ.๒๔๙๖ รุ่นแรก(เจ้าคุณโชติสร้าง)


พระร่วงซุ้มประตู พ.ศ.๒๔๙๖


พระนาคปรก วันเสาร์ พ.ศ.๒๔๙๖


หลวงพ่อศิลาขาว พ.ศ.๒๔๙๖



เหรียญหล่อพระคันธาราฐ ใบเสมา ปี พ.ศ.๒๔๙๖




พระนาคปรก ๕ เศียร เนื้อแร่ วัดพระปฐมเจดีย์ 
หลวงลุงผูกได้รับจากเจ้าคุณโชติ ขณะรับราชการทหาร เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๓
สันนิษฐานว่าสร้างในพิธีคันธราฐ พ.ศ.๒๔๗๖ แต่ทางวัดอ้างว่าสร้างปี พ.ศ.๒๔๘๔ พร้อมกับพระร่วงใบมะยม รุ่นแรก พ.ศ.๒๔๘๔



นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร


          ประวัติพระเครื่องเมืองนครปฐม ขอแสดงความยินดีที่ท่านสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ ประธานศาลอุทธรณ์ ภาค ๕ และประธานศาลอุทธรณ์ ภาค ๓ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป,ป,ช.)่เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๘
                                                              
                                                                              ประวัติพระเครื่องเมืองนครปฐม
                     
                  
พระพิฆเนศ เทพเจ้าแห่งความรู้และความสำเร็จทั้งมวล เป็นผู้มีปัญญาเป็นเลิศปราดเปรื่องในศิลปะวิทยาการทุกแขนง



พระพิฆเนศรุ่น สัมฤทธิคุณ ปี 2556

ด่วน ! ช้าหมดของมีจำนวนจำกัด


          สมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอเชิญบูชาพระพิฆเนศเนื้อสัมฤทธิ์
รุ่น 
สัมฤทธิคุณ รายได้ทั้งหมดมอบเป็นทุนการศึกษาของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มี 2 ขนาด
          ขนาดสูง 19 นิ้ว จำนวนสร้าง 70 องค์ ราคา 17,999 บาท ขณะนี้หมดแล้ว
          ขนาดสูง 12 นิ้ว จำนวนสร้าง 200 องค์ ราคา 7,999 บาท ขณะนี้ไม่แน่ใจว่าหมดหรือยัง

          พระพิฆเนศรุ่น สัมฤทธิคุณ ได้ผ่านพิธีพุทธาภิเษกและพิธีเทวาภิเษก ณ โบสถ์พราหมณ์ ซึ่งเป็นโบสถ์พราหมณ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพราหมณ์
          สนใจติดต่อที่สมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ท่าพระจันทร์) 
          โทร 0-2623-6404, 0-2225-4142

 
                       
                       








                                    



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น